xs
xsm
sm
md
lg

‘ออสเตรเลีย’มุ่งสู่‘ศตวรรษของเอเชีย’

เผยแพร่:   โดย: ปุรเนนทรา จาอิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Australia’s changing Asia trajectory
By Purnendra Jain
16/11/2012

รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่งออกเอกสารสมุดปกขาวฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า ให้ความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์แก่ประเทศในเอเชียและชาวเอเชียเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่แคนเบอร์ราได้ล่าถอยออกจากนโยบาย “ออสเตรเลียผิวขาว” มานานหลายสิบปีแล้ว แต่เอกสารฉบับนี้ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงการขาดความใส่ใจในเรื่องวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับเอเชียชนิดที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย แทนที่จะปฏิบัติต่อเอเชียเพียงแค่เป็นสถานที่สำหรับ “หาเงินหาทอง” เท่านั้น

นับตั้งแต่รัฐต่างๆ ในออสเตรเลียรวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐในปี 1901 ก็มีการประกาศใช้นโยบายในด้านการรับผู้อพยพซึ่งมีลักษณะกีดกันแบ่งแยก โดยมุ่งเน้นที่จะรับแต่คนผิวขาวเป็นสำคัญ จวบจนกระทั่งในทศวรรษ 1970 ออสเตรเลียจึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ยกเลิกร่องรอยเศษเดนที่ยังเหลืออยู่ของนโยบาย “ออสเตรเลียผิวขาว” (White Australia policy) เช่นนี้ หลังจากที่ได้ยึดมั่นใช้กันมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ มาถึงเวลานี้ เมื่อเวลาเคลื่อนตัวผันผ่านไปอีก 4 ทศวรรษ รัฐบาลชุดปัจจุบันของออสเตรเลียก็ออกเอกสารสมุดปกขาวฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาสรุปว่า เอเชียกำลังมีความสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางยุทธศาสตร์ ต่อออสเตรเลียมากขึ้นทุกทีๆ พร้อมกันนั้นก็เสนอโรดแมปสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับเอเชียในช่วงเวลาต่อแต่นี้ไป

สมุดปกขาวฉบับนี้มีชื่อว่า “ออสเตรเลียในศตวรรษของเอเชีย” (Australia in the Asian Century) ซึ่งนับว่าเป็นการก้าวกระโดดออกมาไกลทีเดียวจากนโยบายในยุคก่อนๆ ที่มุ่งจำกัดการอพยพเข้าเมืองของคนเอเชีย นอกจากนี้มันยังเป็นสัญลักษณ์ของวิถีโคจรทางการเมืองอันโดดเด่นเตะตา สำหรับประเทศๆ หนึ่งซึ่งโดยความผูกพันทางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์แล้วมีความโยงใยแนบแน่นอย่างเป็นธรรมชาติอยู่กับโลกตะวันตก ทว่าเนื่องจากสภาพการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป จึงหมายความว่าจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับความใกล้ชิดในทางภูมิศาสตร์เพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากมายมหาศาล

ตำแหน่งที่ตั้งของออสเตรเลีย และทำเลที่อยู่ใกล้เคียงกับบรรดาประเทศในภูมิภาคซึ่งเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวไปอย่างรวดเร็วนั้น กำลังกลายเป็นปัจจัยที่จะชี้ชะตากำหนดอนาคตของแดนจิงโจ้ ทว่ายังคงมีคำถามว่า ความผูกพันกับเอเชียที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเหล่านี้ จะมีการก้าวข้ามให้พ้นจากเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างเรื่องความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงในทางเศรษฐกิจ เพื่อไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กับเอเชียอย่างมีมิติหลากหลายกว้างขวางและเป็นการติดต่อคบหากันอย่างแท้จริงหรือไม่?

กระทั่งหลังจากช่วงทศวรรษ 1970 ไปแล้ว ถ้าหากไม่นับระดับของแวดวงทางการทูต คนออสเตรเลียโดยเฉลี่ยก็ยังแทบไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์อะไรกับเอเชียเอาเลย ถึงแม้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว การค้ากำลังเพิ่มพูนทวีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่แผนการโคลัมโบ (Colombo Plan) กำลังนำเอาผู้คนระดับยอดเยี่ยมที่สุดและฉลาดเฉียบแหลมที่สุดของเอเชียบางส่วน มาศึกษาเล่าเรียนในออสเตรเลีย รวมทั้งในแดนจิงโจ้ยังค่อยๆ ปรากฏชุมชนของชาวเอเชียอพยพ ซึ่งรวมไปถึงพวกที่เข้าเมืองมาในฐานะผู้ลี้ภัย ทว่าชาวออสเตรเลียจำนวนมากยังมีความโน้มเอียงที่จะมองว่าเอเชียคือภัยคุกคาม และแทบไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยในทางสังคมและในทางวัฒนธรรม ออสเตรเลียยังคงเป็นชาติที่ครอบงำโดยคนเชื้อสายอังกฤษผิวขาวอย่างแน่นหนา

แน่นอนทีเดียวว่า สภาพการณ์เช่นที่กล่าวมาข้างต้น มีข้อยกเว้นที่ออกจะโดดเด่นมากอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือ ญี่ปุ่น ประเทศที่เคยเป็นศัตรูแสนขมขื่นของแดนจิงโจ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับปรากฏตัวกลายเป็นชาติคู่ค้าชั้นนำรายหนึ่งของออสเตรเลียตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา จากพื้นฐานในทางการค้า ความสัมพันธ์ยังเบ่งบานขยายตัวไปสู่ความเชื่อมโยงกันในทางสังคมและในทางวัฒนธรรม และแม้กระทั่งในทางยุทธศาสตร์ สายใยผูกพันเหล่านี้ได้รับการพัฒนาคลี่คลายไปในขอบเขตอันกว้างขวางชนิดที่ไม่ปรากฏในความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับชาติเอเชียอื่นใดอีก

สำหรับในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ตอนแรกทีเดียวก็คือจีน จากนั้นจึงเป็นอินเดีย ได้ค่อยๆ กลายเป็น 2 ชาติเอเชียที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับออสเตรเลีย มันเป็นกระบวนการที่แรงขับดันสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นเรื่องของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ การเติบใหญ่ขยายตัวแบบทบทวีคูณของประเทศยักษ์ใหญ่เอเชียทั้ง 2 ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ทำให้พวกเขามีความต้องการวัตถุดิบของออสเตรเลียมากขึ้นๆ แบบพุ่งทะยานโลดลิ่ว ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน, สินแร่เหล็ก, และอื่นๆ แล้วก็พลอยทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของแดนจิงโจ้รุ่งเรืองเฟื่องฟู

ไม่เพียงเฉพาะเรื่องการค้า ประเทศทั้งสองยังได้กลายเป็นแหล่งที่มาสำคัญที่สุด 2 แหล่งของนักเรียนนักศึกษาซึ่งเข้าเล่าเรียนตามสถาบันอุดมศึกษาและวิทยาลัยอาชีวศึกษาของออสเตรเลีย ทั้งนี้ในตอนแรกเลยก็คือจีนในช่วงทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 แล้วต่อมาคืออินเดียในยุคใกล้เข้ามาอีก จำนวนของนักเรียนนักศึกษาจากแดนมังกรและแดนภารตะช่างมากมายจนกระทั่งทำให้สถาบันการศึกษาของออสเตรเลียเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพต้องพึ่งพาอาศัยรายได้ก้อนโตจากแหล่งที่มาในเอเชียทั้งสอง คงต้องระบุชี้เอาไว้ด้วยว่า นักศึกษาเหล่านี้มีจำนวนมากทีเดียวที่ต้องมนตร์เสน่ห์ใหลหลงในแดนจิงโจ้ เพียงเพราะคำมั่นสัญญาที่จะได้รับฐานะเป็นผู้พำนักอาศัยอย่างถาวร เมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษาแล้ว

ทางด้านการอพยพของผู้คนจากประเทศเอเชียต่างๆ เข้าสู่ออสเตรเลียนั้น ได้ดำเนินไปอย่างมั่นคงสม่ำเสมอนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทว่าเพิ่งจะในระยะไม่กี่ปีใกล้ๆ นี้เท่านั้นที่จำนวนผู้อพยพชาวเอเชียพุ่งพรวดพราด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มาจากจีนและอินเดีย ในปี 2011 อินเดียกลายเป็นชาติซึ่งส่งผู้อพยพให้แก่ออสเตรเลียรายใหญ่ที่สุด แซงหน้าพวกซัปพลายเออร์หน้าเดิมๆ อย่างเช่น สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า การค้าของออสเตรเลียเวลานี้ ปริมาณถึงสองในสามทีเดียวเป็นการทำมาค้าขายกับเอเชีย ขณะที่จำนวนนักเรียนนักศึกษาและผู้อพยพชาวเอเชียซึ่งมาจากจีน, อินเดีย, และชาติเอเชียอื่นๆ ก็ล้นปรี่ขยายตัว แล้วยังพวกนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนช่วงสั้นๆ จากเอเชียล้วนแต่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เหล่านี้ทำให้มองเห็นได้อย่างไม่ลำบากยากเย็นเลยว่า อนาคตของออสเตรเลียกำลังสอดสานร้อยรัดอยู่กับอนาคตของเอเชียเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ

ขณะที่เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย (ซึ่งเวลานี้มีขนาดของจีดีพีใหญ่กว่าของออสเตรเลียแล้ว), เวียดนาม, และประเทศเอเชียอื่นๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ภูมิภาคแถบนี้ก็ยิ่งเพิ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในสมุดปกขาว “ออสเตรเลียในศตวรรษของเอเชีย” ได้ระบุถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เหล่านี้บางอย่างบางประการ พร้อมกับมีข้อเสนอแนะจำนวนมากเพื่อการทำให้ออสเตรเลียอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบในการคบค้ากับเอเชียต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ 5 ประเทศเอเชีย อันได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, และอินเดีย ได้รับการระบุว่ามีความสำคัญที่สุด และสมุดปกขาวฉบับนี้เสนอแนะว่าในโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาของออสเตรเลีย ควรต้องมีการสอนเรื่องวัฒนธรรม, สังคม, และภาษาของชาติเอเชียเหล่านี้ โดยที่การสอนภาษาญี่ปุ่น, ภาษาจีน, ภาษาอินโดนีเซีย, และภาษาฮินดี ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

อันที่จริงแล้ว ข้อเสนอแนะเหล่านี้เป็นจำนวนมากทีเดียวได้เคยถูกนำมาเน้นย้ำแล้วในเอกสารและรายงานต่างๆ จำนวนหนึ่ง แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้กำลังถูกรวบรวมนำมาไว้ที่เดียวกันเป็นครั้งแรกในรูปของรายงานรัฐบาลที่รอบด้าน ก็คือการส่งสัญญาณแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแห่งชาติของแดนจิงโจ้มีความจริงจังขนาดไหนในการผูกพันโยงใยกับเอเชีย

แต่ถึงแม้มีหลายคนหลายฝ่ายพากันยกย่องชมเชยสมุดปกขาวฉบับนี้ว่าเป็นเอกสารที่สำคัญมาก ก็มีพวกนักวิจารณ์ที่ชี้ให้เห็นว่ามันยังขาดรายละเอียดที่จะนำไปปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าความมุ่งมาดปรารถนาเหล่านี้จะมีการตอบสนองในทางปฏิบัติกันอย่างไร และใครจะเป็นผู้ควักกระเป๋าออกเงินทุนให้แก่แรงขับดันทางด้านการศึกษาอันใหญ่โตมหึมาซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะทำให้ประชากรของออสเตรเลียเป็น “ผู้มีการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับเอเชีย” และเป็น “ผู้มีศักยภาพในเรื่องเกี่ยวกับเอเชีย” นอกจากนั้นยังมีคำถามข้อสงสัยในรายละเอียดซึ่งยังต้องการคำตอบ เป็นต้นว่า ทำไมชาวออสเตรเลียจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาของชาวเอเชียนอกเหนือจากส่วนที่จำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในทางเศรษฐกิจแล้ว? และทำไมจึงให้ความสำคัญกับภาษาฮินดีมากกว่าภาษาเกาหลี?

สมุดปกขาวฉบับนี้เสนอแนะเป้าหมายอย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรมว่า ภายในปี 2025 หนึ่งในสามของ 200 บริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย และหนึ่งในสามของคณะผู้นำอาวุโสของกิจการบริการสาธารณะของออสเตรเลีย ควรต้องมีประสบการณ์และความรู้อันลึกซึ้งเกี่ยวกับเอเชีย ทว่ากลับไม่มีตรงไหนเลยที่เสนอแนะเป้าหมายทำนองนี้ให้พวกนักการเมืองบ้าง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะมีองค์การหนึ่งองค์การใดในออสเตรเลีย ซึ่งจำเป็นต้องมีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับเอเชียให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว มันก็ต้องเป็นพวกสถาบันด้านการศึกษาของแดนจิงโจ้นั่นแหละ ปัจจุบันยังไม่มีมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียแห่งใดเลยที่มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับรองอธิการบดีเป็นคนที่เกิดในเอเชีย ส่วนในระดับผู้บริหารอาวุโสและในสภามหาวิทยาลัย ปรากฏว่าสัดส่วนของผู้ที่เป็นชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียยังมีน้อยมากๆ จนแทบไม่เป็นที่สังเกตสังกาอะไรของใครเลย ดังนั้น ออสเตรเลียมีความพรักพร้อมจริงๆ และมีเจตจำนงจริงๆ หรือยังที่จะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากทรัพย์สินชาวเอเชียของตนที่มีอยู่ คำตอบคือ ยังไม่ค่อยพร้อมเอาเสียเลย

สมุดปกขาวฉบับนี้เน้นย้ำให้ความสำคัญมากที่สุดกับเรื่อง “โอกาสต่างๆ” ในเอเชีย และทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสเหล่านี้เพื่อทำให้ออสเตรเลียยังคงเป็นสังคมพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง และมีระบบสวัสดิการสังคมที่เอื้อเฟื้อ อย่างไรก็ดี มันแทบไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นปัญหาทางสังคมและประเด็นปัญหาทางด้านมนุษย์ ซึ่งกำลังเป็นความท้าทายหนักหน่วงของประเทศเอเชียจำนวนมาก

กล่าวโดยสรุป สิ่งที่ยังคงขาดหายไปในสมุดปกขาวฉบับนี้ ก็คือการยอมรับความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ออสเตรเลีย-เอเชียแบบที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่ายขึ้นมา ตลอดจนการเสนอแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ สิ่งที่ขาดหายไปเหล่านี้จะได้รับการเติมเต็ม ก็ต่อเมื่อออสเตรเลียต้องมองเอเชียให้เห็นมากกว่าเป็นเพียงแค่สถานที่สำหรับ “หาเงินหาทอง” และแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น

สมุดปกขาวฉบับนี้เป็นเอกสารที่ควรแก่การต้อนรับ แต่มันก็ถึงเวลาแล้วเช่นกันที่จะต้องขบคิดกันให้จริงจังเกี่ยวกับวิธีการที่จะขับเคลื่อนให้ออสเตรเลียเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับเอเชีย ในลักษณะที่ก้าวพ้นออกไปจากระดับซึ่งมีแต่ถ้อยคำโวหารเพราะๆ เท่านั้น

ปุรเนนทรา จาอิน เป็นศาสตราจารย์ทางด้านเอเชียศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย
กำลังโหลดความคิดเห็น