รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ตั้งโต๊ะหารือกับบรรดาเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ในอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งรวมถึง เจมี ไดมอน ประธานธนาคาร เจพี มอร์แกน เชสส์ และพ่อมดการลงทุน วอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ เพื่อขอให้เศรษฐีเหล่านี้ยอมรับนโยบายขึ้นภาษีบุคคลที่มีรายได้สูงสุด ซึ่ง โอบามา เชื่อว่าจะทำให้สหรัฐฯรอดพ้นจาก “หน้าผาการคลัง” (fiscall cliff) ที่จะมาถึงในสิ้นปีนี้
ไดมอน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านกฎระเบียบอันเข้มงวดที่วอชิงตันประกาศใช้กับสถาบันการเงินหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อช่วงปี 2008-2009 ยอมเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนแผนขึ้นภาษีคนรวยของโอบามา เมื่อเดือนที่แล้ว
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า โอบามาซึ่งอยู่ระหว่างเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเวลา 4 วัน ยังได้เจรจาขอความร่วมมือจากทิม คุก ผู้บริหารแอปเปิล, เจมส์ แม็คเนอร์นีย์ ผู้บริหารโบอิ้ง และเครก เจลิเน็ก ประธานบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ คอสโก
หากสภาคองเกรสและวอชิงตันไม่สามารถสรุปแผนลดรายจ่ายของรัฐลงได้ อัตราภาษีรายได้ของพลเมืองสหรัฐฯจะถูกปรับขึ้น และมีการตัดงบประมาณภาครัฐทั้งระบบถึง 109,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในวันที่ 1 มกราคมนี้ ซึ่งก็คือขีดเส้นตายที่เรียกว่า “หน้าผาการคลัง” ซึ่งแม้จะช่วยให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณลดลง แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่ามาตรการดังกล่าวจะฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯตกต่ำอย่างรุนแรง
สัปดาห์ที่ผ่านมา โอบามายังได้เจรจากับผู้นำคนสำคัญของคองเกรสเพื่อหาวิธีเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดต่อเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งประเด็นเดียวที่ฝ่ายรีพับลิกันยังรับไม่ได้ก็คือการที่ โอบามา ดึงดันจะขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูงสุดจาก 35% เป็น 39.6%
แม้ ส.ส.รีพับลิกันจะยอมรับว่า การเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐคือหนทางที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณลง ทว่าพวกเขาก็ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีเก็บภาษีเพิ่ม
ประธานาธิบดียังได้เชิญผู้นำภาคธุรกิจ, แรงงาน, พลเมือง และองค์กรไม่แสวงผลกำไร เข้าร่วมหารือเพื่อกดดันฝ่ายค้านอีกทางหนึ่ง ซึ่งการที่ โอบามา ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ก็น่าจะช่วยให้เขามีอำนาจต่อรองสูงขึ้นอีก
เดือนที่แล้ว ไดมอนได้ออกมาตำหนิ “นโยบายแย่ๆ” ของรัฐบาลที่เริ่มเจรจาเอาตอนจะถึงเส้นตายอยู่รอมร่อ พร้อมระบุว่าตนพร้อมที่จะเสียภาษีเพิ่มขึ้น หากเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้สหรัฐฯรอดจากวิกฤตได้