เอเอฟพี - กองทัพสหรัฐฯทำข้อตกลงติดตั้งเรดาร์ประสิทธิภาพสูงและกล้องโทรทรรศน์อวกาศบนแผ่นดินออสเตรเลีย อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์มุ่งสู่เอเชียของประธานาธิบดี บารัค โอบามา รัฐบาลทั้งสองชาติแถลงร่วมกัน วันนี้(14)
สตีเฟน สมิธ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย ระบุในงานแถลงข่าววันนี้(14)ว่า การเคลื่อนย้ายระบบเรดาร์ ซี-แบนด์ (C-Band) มาติดตั้งที่ออสเตรเลีย “จะช่วยตรวจจับขยะอวกาศที่ล่องลอยอยู่เหนือภูมิภาคนี้”
ด้าน เลียน เพเนตตา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยกย่องข้อตกลงดังกล่าวว่าเป็น “ก้าวกระโดดครั้งสำคัญในความร่วมมือด้านอวกาศระหว่าง 2 ชาติ และเป็นมิติใหม่สำหรับยุทธศาสตร์มุ่งสู่เอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ”
การทำข้อตกลงนำระบบ ซี-แบนด์ มาติดตั้งในซีกโลกใต้ครั้งนี้ จะช่วยให้สหรัฐฯสามารถจับตาความเคลื่อนไหวของเทหวัตถุบนท้องฟ้า รวมถึงจรวดที่จีนส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโสเพนตากอนให้สัมภาษณ์
“อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถตรวจจับสิ่งต่างๆที่เคลื่อนผ่านเข้ามา หรือออกไปจากชั้นบรรยากาศโลก โดยมีรัศมีครอบคลุมทั่วทั้งเอเชีย”
ปัจจุบัน เรดาร์ ซี-แบนด์ ติดตั้งอยู่ที่ฐานทัพสหรัฐฯบนเกาะแอนติกาในทะเลแคริบเบียน
แคนเบอร์รายังยินยอมให้วอชิงตันติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (SST) ซึ่งสามารถตรวจจับได้แม้วัตถุขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศชั้นสูงถึง 35,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก
กล้องโทรทรรศน์รุ่นนี้เป็นนวัตกรรมของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม (DARPA) ซึ่งเป็นแผนกวิจัยไฮเทคของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเอง
ข้อตกลงติดตั้งเรดาร์และกล้องโทรทรรศน์แสดงให้เห็นความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกองทัพสหรัฐฯและออสเตรเลีย รวมถึงเจตนารมณ์ของเพนตากอนที่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านอวกาศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจีนก็มีการพัฒนาในด้านนี้ไปไกลแล้วเช่นกัน
สมิธ ระบุว่า ระบบ ซี-แบนด์ และกล้องโทรทรรศน์จะถูกติดตั้งไว้ที่แหลมทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย แต่ยังไม่กำหนดแน่นอนว่าเป็นจุดใด
สหรัฐฯจะเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งและอบรมการใช้อุปกรณ์ทั้งสองแก่เจ้าหน้าที่ออสเตรเลีย ทว่าจะไม่ส่งกองกำลังสหรัฐฯมาประจำการในออสเตรเลียอย่างถาวร
สำหรับการติดตั้งเรดาร์และกล้องโทรทรรศน์คาดว่าต้องใช้งบประมาณราว 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 920 ล้านบาท) และหลังจากนั้นจะมีค่าใช้จ่ายรายปีอีกประมาณ 8-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (245-300 ล้านบาท)