เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักข่าวเอเอฟพีเผยแพร่รายงานพูดถึงการเยือนพม่า ไทย และกัมพูชา ในช่วงกลางเดือนนี้ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่าเป็นการแสดงท่าทีมุ่งมั่นที่จะใช้วาระการดำรงตำแหน่งสมัย 2 ของเขาใน 4 ปีข้างหน้านี้ ปรับทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ให้หันมาเน้นหนักที่เอเชีย ในช่วงจังหวะเวลาที่จีนกำลังก้าวผงาดขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็อ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ว่า หากผู้นำอเมริกันผู้นี้เยือนเขมร แต่ไม่แวะไทยแล้ว “ก็จะเป็นความหายนะร้ายแรง”
รายงานของเอเอฟพีบอกว่า นอกจากโอบามาแล้ว ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน ทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน และรัฐมนตรีกลาโหม เลียน เพเนตตา ของสหรัฐฯ ก็จะเยือนเอเชียด้วย ถึงแม้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญเสียทีเดียว เนื่องจากโอบามากำลังจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กัมพูชา รัฐมนตรีอาวุโสทั้งสองจึงย่อมมีภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ แต่กระนั้นพวกผู้เชี่ยวชาญยังคงระบุว่า นี่ป็นการส่งสัญญาณอันทรงพลังต่อภูมิภาคแถบนี้
เอเอฟพีอ้างความเห็นของเออร์นี โบเวอร์ จากศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies) ที่บอกว่าการเดินทางของโอบามาคราวนี้ซึ่งเป็นการเยือนเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงภูมิภาคเดียวครั้งแรกของผู้นำสหรัฐฯภายหลังสงครามเวียดนามเป็นต้นมา จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์มุ่งให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ในสมัยที่ 2 แห่งการดำรงตำแหน่งของเขา
ขณะที่ นีนา ฮาชิเจียน นักวิจัยอาวุโสของ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกัน (Center for American Progress) หน่วยงานคลังสมองที่มีแนวทางการเมืองเอียงซ้าย ก็ชี้ว่า ถึงแม้ยังจะมีประเด็นปัญหาในภูมิภาคอื่นๆ เป็นต้นว่า ซีเรีย แต่ข้อเท็จจริงก็มีอยู่ว่าหลังจากสหรัฐฯ ถอนทหารทำหน้าที่สู้รบออกไปจากอัฟกานิสถานภายในปี 2014 แล้ว สหรัฐฯ ก็จะไม่มีภาระต้องทำสงครามอีกต่อไป ดังนั้นคณะรัฐบาลโอบามาในสมัยที่ 2 นี้จึงสามารถเน้นหนักมาที่เอเชียได้
ในเอเชียนั้น แรกเริ่มทีเดียวโอบามาให้ความสำคัญกับเรื่องการร่วมมือกับจีน แต่ในเวลาต่อมาได้ปรับเปลี่ยนท่าทีแข็งกร้าวขึ้น ด้วยการเพิ่มบทบาทของกองทหารอเมริกันในเอเชียในจังหวะเวลาที่หลายชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น กล่าวหาปักกิ่งว่าใช้ท่าทีแข็งกร้าวเอาแต่ใจตัวมากขึ้นในข้อพิพาทด้านดินแดน
ระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี จีนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มิตต์ รอมนีย์ คู่แข่งของโอบามา จากกรณีที่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันผู้นี้กล่าวหาโอบามาว่าอ่อนข้อให้แดนมังกรมากเกินไปในประเด็นต่างๆ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและด้านการค้า อย่างเช่นการปล่อยให้ปักกิ่งกดค่าเงินหยวนของตนให้ต่ำเกินจริงไปมาก
หลังจากโอบามาชนะ สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนได้เผยแพร่บทวิจารณ์เรียกร้องให้คณะรัฐบาลสหรัฐฯ “ขบคิดทบทวนนโยบายเกี่ยวกับจีนเสียใหม่” พร้อมกับเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันในสิ่งที่เป็นปัญหาท้าทายต่อทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นต้นว่า การก่อการร้าย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตเศรษฐกิจ
ทว่า วอลเตอร์ โลห์แมน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษาแห่งมูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองแนวทางอนุรักษนิยม แสดงความเห็นว่า ทั้ง การเลือกตั้งของอเมริกาและการเปลี่ยนผู้นำในจีน จะไม่ทำให้พลวัตในความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจโลกคู่นี้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด กล่าวคือวอชิงตันจะยังคงต้องเผชิญหน้ากับปักกิ่งซึ่งอยู่ในภาวะที่มีกระแสชาตินิยม แสนยานุภาพทางทหาร และการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนต่างๆ อย่างแข็งกร้าวมากขึ้น
“เพียงเพราะว่าพวกเราก้าวผ่านพ้นฤดูกาลแห่งความน่าละอาย (การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี) ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังจะหวนกลับไปหาวันเวลาดีๆ ในอดีตกันได้ใหม่ ผมคิดว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความขรุขระเป็นระยะยาวทีเดียวในความสัมพันธ์กับฝ่ายจีน” เขาบอก
โลห์แมนยังกล่าวยกย่องการตัดสินใจของโอบามาในการเยือนไทย พันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของอเมริกาในเอเชีย ทั้งนี้ แม้บุชเคยเดินทางมาไทย 2 ครั้ง แต่ครั้งหนึ่งเป็นการมาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของภูมิภาค ขณะที่การเยือนในปี 2008 มุ่งเน้นประเด็นพม่าและโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ส่วนอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน เคยเยือนไทยอย่างเป็นรับพิธีในปี 1996
โลห์แมนทิ้งท้ายว่า หากโอบามาเดินทางไปกัมพูชาที่เดี๋ยวรบเดี๋ยวดีกับไทย แต่ไม่เยือนไทย “มันก็จะกลายเป็นความหายนะร้ายแรง”