เอเจนซีส์ - สื่อมวลชนอเมริกันเจาะเบื้องหลังการลาออกอย่างกะทันหันของ เดวิด เพเทรอัส ผู้อำนวยการซีไอเอ สืบเนื่องจากความสัมพันธ์นอกสมรสกับ พอลลา บรอดเวลล์ อดีตพันตรีหญิงผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของเขา พบว่าแรกเริ่มทีเดียวเอฟบีไอเข้าสอบสวนเรื่องนี้ สืบเนื่องจาก “อีเมลต้องสงสัย” ซึ่งไม่ได้โยงใยถึงตัวนายใหญ่หน่วยข่าวกรองผู้เป็นวีรบุรุษสงครามอิรักผู้นี้แต่อย่างไร ทว่าเป็นอีเมลที่บรอดเวลล์ส่งไปขู่ผู้หญิงอีกคนที่เธอเชื่อว่าจะเป็นเสี้ยนหนามความรักของเธอ
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันอาทิตย์ (11) รายงานโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าเรื่องรักซ้อนซ่อนปมนี้แดงขึ้นมาเมื่อสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ตรวจสอบว่าคอมพิวเตอร์ของเพเทรอัสถูกเจาะหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ซึ่งเป็นนายทหารชื่อก้องจากสงครามอิรัก และสงครามอัฟกานิสถาน ถึงขนาดที่มีเสียงคาดการณ์กันว่ามีโอกาสจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้ในอนาคตได้ทีเดียวผู้นี้มีสถานะสมรสเต็มขั้นและมีบุตร 2 คน
ด้านสถานีเอ็นบีซีนิวส์และสื่ออื่นๆ รายงานว่า การสอบสวนของเอฟบีไอพุ่งประเด็นไปที่บรอดเวลล์ ผู้ร่วมเขียนหนังสือชีวประวัติของเพเทรอัส ว่าเข้าถึงข้อมูลลับโดยไม่เหมาะสมหรือไม่
เจ้าหน้าที่ที่ไม่ประสงค์ออกนามแย้มกับนิวยอร์กไทมส์ว่า เพเทรอัสมีสัมพันธ์ลับๆ กับบรอดเวลล์ อดีตนายทหารยศพันตรีของกองทัพบก ที่เคยใช้เวลาสัมภาษณ์เพเทรอัสเพื่อเก็บข้อมูลเขียนหนังสืออยู่นาน
บรอดเวลล์ที่แต่งงานแล้วเช่นเดียวกันและมีลูกเล็กๆ 2 คน ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับข่าวนี้ เช่นเดียวกับเอฟบีไอและซีไอเอ
ก่อนหน้านี้ นิวยอร์กไทมส์ และวอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวันเสาร์ (10) โดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งว่า การสอบสวนครั้งนี้มีต้นเหตุมาจากอีเมล “ข่มขู่” ที่บรอดเวลล์ส่งถึงผู้หญิงอีกคน และผู้หญิงคนนั้นกลัวมากกระทั่งขอรับความคุ้มครองจากเอฟบีไอ
วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ผู้หญิงคนดังกล่าวไม่ได้ทำงานกับซีไอเอ และความสัมพันธ์กับเพเทรอัสก็ยังคลุมเครือ แต่จากอีเมลทำให้รู้ว่าบรอดเวลล์มองว่าเธอเป็นเสี้ยนหนามต่อความสัมพันธ์ของตนกับนายใหญ่ซีไอเอ
ทั้งนี้ ยังมีคำถามมากมายที่ไม่ได้รับคำตอบ เช่น ใครคือผู้หญิงคนนั้น, เนื้อหาอีเมลที่นำไปสู่การสอบสวนของเอฟบีไอ และระบบความมั่นคงของสหรัฐฯ หย่อนยานหรือไม่ รวมทั้งเพราะเหตุใดเอฟบีไอจึงรอกระทั่งหลังเลือกตั้งในวันอังคาร (6) จึงแจ้ง “สถานการณ์เกี่ยวกับเพเทรอัส” ต่อเจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลซีไอเอและหน่วยข่าวกรองอื่นๆ
รายงานจากสื่ออเมริกันระบุว่า แคลปเปอร์และเพเทรอัสคุยกันในเช้าวันพุธ (7) ซึ่งแคลปเปอร์แนะนำให้เพเทรอัส “ทำสิ่งที่ถูกต้อง”
วันเดียวกันนั้น แคลปเปอร์แจ้งต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า เพเทรอัสกำลังพิจารณาลาออก และควรแจ้งเรื่องนี้ให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามารับรู้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คนเดิมและแหล่งข่าวอีกสองคนที่ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ระบุว่า ไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่า เพเทรอัสเป็นเหยื่อการสอดแนมหรือการแบล็กเมล์แต่อย่างใด ซึ่งบ่งชี้ว่า อาจไม่มีผู้ใดถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมจากการสอบสวนนี้
เจ้าหน้าที่สำทับว่า การสอบสวนของเอฟบีไอเริ่มต้นขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อนไม่ใช่หลายปีก่อน โดยปีเตอร์ คิง ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ให้สัมภาษณ์สถานีเอ็มเอสเอ็นบีซีว่า เอฟบีไอเริ่มตรวจสอบหรือติดตามผู้อำนวยการซีไอเอเมื่อ 4-5 เดือนที่แล้ว
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่หลายคนที่รับรู้เกี่ยวกับการสอบสวนเผยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหม ซีไอเอ และรัฐสภา ไม่ระแคะระคายเรื่องนี้จนกระทั่งเช้าวันพฤหัสฯ (8)
จากนั้น ผู้อำนวยการซีไอเอจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันศุกร์ (9) โดยยอมรับว่า มีสัมพันธ์นอกสมรสและมีการตัดสินใจบกพร่องอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดอาชีพราชการของผู้ที่ได้รับการนับถือและได้รับความดีความชอบสูงสุดในการนำอิรักหลุดพ้นจากสงครามกลางเมือง ตลอดจนเป็นผู้นำกองทัพอเมริกาและนาโตในอัฟกานิสถาน
ขณะเดียวกัน แม้โอบามาแสดงความชื่นชมต่อเพเทรอัสหลังจากรับรู้ข่าวการลาออก แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรื่องนี้จะเพิ่มภาระในการตัดสินใจของประธานาธิบดีเกี่ยวกับคณะบริหารในอนาคต หลังจากเป็นที่คาดว่ารัฐมนตรีสำคัญหลายคนจะลาออกไม่รับตำแหน่งต่อ ได้แก่ ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ, เลียน พาเน็ตตา นายใหญ่เพนตากอน และขุนคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์