xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญเตือน “หน้าผาการคลัง” ส่อทำศก.สหรัฐฯทรุดหนักกว่าที่คาดไว้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจถดถอยรุนแรงยิ่งกว่าที่นักลงทุนและนักการเมืองผู้วางนโยบายคาดการณ์ไว้ หากวอชิงตันไม่อาจหลีกเลี่ยงมาตรการขึ้นภาษีและตัดลดรายจ่ายภาครัฐลง

ความล้มเหลวของสภาคองเกรสที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณภายในสิ้นปีนี้ จะทำให้สหรัฐฯต้องเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ที่เรียกว่า “หน้าผาการคลัง” (fiscal cliff) ภายในต้นปีหน้า ซึ่งหมายถึงการตัดรายจ่ายและขึ้นภาษีโดยอัตโนมัติ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวกว่า 600,000 ล้านดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่า ทุกๆดอลลาร์ที่ตัดออกไปเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวในมูลค่าพอๆกัน ขณะที่สำนักงบประมาณสหรัฐฯประเมินว่า มาตรการลดรายจ่ายและขึ้นภาษีอัตโนมัติจะทำให้เศรษฐกิจแดนอินทรีหดตัวราว 0.5% ในปี 2013ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้รับความเชื่อถือจากทั้งตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

อย่างไรก็ดี ผลวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ในแวดวงวิชาการและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)กลับทำนายว่า การลดหนี้ทุกๆดอลลาร์อาจดึงเม็ดเงินจากเศรษฐกิจถึง 1.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับว่าแผนรัดเข็มขัดจะส่งผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่าที่รัฐบาลคาดไว้

บาร์รี ไอเชงรีน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ระบุว่า “คุณลองเอาตัวเลขเศรษฐกิจที่หดตัว 0.5% แล้วคูณสองเข้าไป”

นักวิจัยเหล่านี้เกรงว่า การใช้นโยบายการคลังแบบหดตัวจะยิ่งเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจในเวลาที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯและประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายแห่ง

ไอเชงรีน อธิบายว่า หากอัตราดอกเบี้ยสูง ธนาคารกลางยังสามารถปรับลดดอกเบี้ยเพื่อผ่อนคลายผลกระทบของมาตรการรัดเข็มขัดได้ แต่ในกรณีของสหรัฐฯที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเฉียดศูนย์นั้น ยากจะหาวิธีแก้ไข

ตามธรรมดาแล้ว การขึ้นภาษีหรือลดรายจ่ายภาครัฐจะกระตุ้นให้ครัวเรือนตัดลดรายจ่ายลงพอประมาณเท่านั้น และตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2009 ทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลลดรายจ่ายก็จะดึงเม็ดเงินเพียงครึ่งหนึ่งออกจากระบบเศรษฐกิจ ผลวิจัยนโยบายการคลังใน 28 ประเทศของไอเอ็มเอฟซึ่งเผยแพร่ในเดือนนี้ระบุ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Recession) ปี 2008 โดยไอเอ็มเอฟพบว่า การตัดรายจ่ายทุกดอลลาร์ๆเพื่อปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล (fiscal consolidation) จะดึงเม็ดเงินจากระบบเศรษฐกิจระหว่าง 0.70-1.70 ดอลลาร์เลยทีเดียว

ไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ภาวะเช่นนี้จะทำให้ธนาคารกลางต่างๆยากที่จะหาวิธีลดผลกระทบของมาตรการรัดเข็มขัด

เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2008 ธนาคารกลางสหรัฐฯตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยข้ามคืนเหลือเกือบศูนย์ และหันไปรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่า เฟดอาจไม่สามารถค้ำจุนเศรษฐกิจไว้ได้หากสหรัฐฯต้องเผชิญกับ “หน้าผาการคลัง” ในต้นปีหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น