xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” ลงนามคำสั่งตัดงบอัตโนมัติ $85,000 ล้าน หลังเจรจาคองเกรสล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แถลงข่าวเรื่องมาตรการตัดงบแบบเหมารวมอัตโนมัติ (sequestration) หลังสิ้นสุดการเจรจากับผู้นำคองเกรสที่ทำเนียบขาว วานนี้(1)
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งตัดลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐลงทั้งระบบ เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา(1) หลังการเจรจากับฝ่ายรีพับลิกันเพื่อบรรลุข้อตกลงหลีกเลี่ยงมาตรการดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งการหั่นรายจ่ายแบบเหมารวมนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และบั่นทอนความพร้อมของกองทัพ

“การตัดงบประมาณอาจยังไม่มีผลกระทบต่อทุกฝ่ายในทันที แต่ความเดือดร้อนจะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปครอบครัวชนชั้นกลางจะเริ่มสัมผัสได้ถึงความยากลำบาก” โอบามา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว หลังเสร็จสิ้นการประชุมกับบรรดาผู้นำเดโมแครตและรีพับลิกันในสภาคองเกรส

เมื่อคืนวานนี้(1) โอบามาลงนามประกาศใช้มาตรการตัดงบแบบเหมารวม หรือ “ซีเควสเตรชัน” (sequestration) ซึ่งจะมีผลให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดถูกตัดงบรวมทั้งสิ้น 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่วันนี้(2) ไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม โดยครึ่งหนึ่งจะมาจากงบของกระทรวงกลาโหม

ชัค เฮเกล ผู้นำเพนตากอนคนใหม่ กล่าวเตือนว่า การหั่นงบกองทัพครั้งนี้จะทำให้ภารกิจด้านการทหารทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง

แม้คองเกรสและ โอบามา จะยังพอมีเวลาอีกหลายสัปดาห์ที่จะยับยั้งมาตรการซีเควสเตรชัน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรสเมื่อปี 2011 เพื่อแก้ไขวิกฤตงบประมาณสหรัฐฯในช่วงนั้น ทว่าทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังไม่มีท่าทีรอมชอมกันได้

พรรคเดโมแครตประเมินว่า การตัดงบประมาณทั้งระบบจะก่อปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการสัญจรทางอากาศ, กระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารที่ช้าลง อันจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสัตว์ในตลาด, การยกเลิกสัญญาระหว่างเอกชนกับภาครัฐ และความเสียหายต่อเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพต่างๆ

หัวใจของวิกฤตงบประมาณครั้งนี้ก็คือความเห็นไม่ลงรอยระหว่างฝ่ายเดโมแครตกับรีพับลิกันเกี่ยวกับวิธีที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะ 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีที่มาจากการทำสงครามต่อเนื่องหลายปีในอิรักและอัฟกานิสถาน รวมถึงเม็ดเงินที่รัฐบาลใช้อัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โอบามา ต้องการให้รัฐตัดงบประมาณบางส่วนควบคู่ไปกับการขึ้นภาษี ขณะที่รีพับลิกันก็ไม่ปรารถนาที่จะอ่อนข้อในเรื่องภาษีอีก หลังจากที่เคยยอมไปแล้วครั้งหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยง “หน้าผาการคลัง” (fiscal cliff) เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา

ความโกรธเกรี้ยวจากสังคมน่าจะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่สุดที่จะทำให้รัฐบาลและคองเกรสยอมหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการตัดงบประมาณที่จะแผ่ซ่านไปทั่วทุกภาคส่วนภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

การตัดงบอัตโนมัติ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯอาจฟังดูไม่มากมายเมื่อเทียบกับงบรายจ่ายรวมของรัฐบาลสหรัฐฯที่สูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เนื่องจากโครงการสวัสดิการสังคมและประกันสุขภาพต้องได้รับการปกป้องไว้ ทำให้ภาระส่วนใหญ่จะไปตกอยู่กับพนักงานรัฐมากกว่าประชาชนที่ได้รับการอุดหนุนโดยตรง

รัฐบาลสหรัฐฯถือเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่พลเรือนในสังกัดราว 2.7 ล้านคน ซึ่งหากการตัดงบอัตโนมัติยังคงมีผลบังคับต่อไป พนักงานรัฐกว่า 800,000 คนอาจถูกลดวันทำงานและตัดเงินค่าจ้าง ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน

หน่วยงานต่างๆเริ่มประกาศเตือนเรื่องการปลดพนักงานตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา และแจ้งเตือนไปอย่างทั่วถึงเมื่อวานนี้(1) หลังเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การเจรจาโค้งสุดท้ายระหว่าง โอบามา กับผู้นำคองเกรสล้มเหลวแน่

ผลสำรวจออนไลน์โดยรอยเตอร์/อิปซอส เมื่อวานนี้(1) พบว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 28 โทษว่าเป็นความผิดของรีพับลิกันที่ทำให้การหลีกเลี่ยงมาตรการตัดงบรายจ่ายอัตโนมัติไม่เป็นผล, ร้อยละ 18 คิดว่าเป็นความผิดของ โอบามา, ร้อยละ 4 โทษฝ่ายเดโมแครต แต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 37 คิดว่าผิดด้วยกันทุกฝ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น