เอเอฟพี - ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของสหรัฐฯ พบ ปลานอกชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น มีสารรังสีซีเซียมสูงกว่าระดับปกติ หลังผ่านหายนภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะมานานกว่า 1 ปี ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลอย่างต่อเนื่อง
เคน บูซเลอร์ นักเคมีทางทะเลของสถาบันมหาสมุทรศาสตร์ วูด โฮลได้พิจารณาตรวจสอบข้อมูลของทางการญี่ปุ่นเกี่ยวกับระดับรังสีซีเซียมในปลา หอย สาหร่าย ที่เก็บรวบรวมจากทะเลโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
บูซเลอร์สรุปการวิจัย ซึ่งเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ วันพฤหัสบดี (25) ว่า การปนเปื้อนที่ยังมีอยู่นี้อาจเป็นเพราะการรั่วไหลของสารรังสีในระดับต่ำจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว หรือเป็นตะกอนปนเปื้อนรังสีบนพื้นมหาสมุทร
หัวหน้าทีมวิจัยระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีจากฟูกูชิมะ ในปี 2011 รายนี้ชี้ว่า สัตว์น้ำจำนวนมากมายมหาศาลที่จับได้นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับปลอดภัย แต่ปลาบางชนิดที่ถูกจับใกล้กับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะก็ไม่สมควรนำมาบริโภคตามกฏหมายของแดนปลาดิบ
เขากล่าวว่า การทำนายการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการปนเปื้อนไม่ได้จำกัดอยู่แค่การศึกษาปลา แต่ยังต้องทำความเข้าใจแหล่งที่มา และการจมของสารรังสีซีเซียม และวัตถุนิวเคลียร์อื่นๆ ในทะเลโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้
คลื่นยักษ์สึนามิจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในเดือนมีนาคม ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดการเมลต์ดาวน์ ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายทั่วไปในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลายเป็นมหันตภัยปรมาณูครั้งร้ายแรงที่สุดโลกสำหรับคนรุ่นนี้
ด้านนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า จากหายนภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ มีรังสีจำนวนมากไหลลงสู่มหาสมุทร ทั้งจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีโดยตรงตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรกๆ ที่เกิดวิกฤตปรมาณู หรือผ่านวัฏจักรน้ำ
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังเผยว่า ระดับการปนเปื้อนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของปลา แต่ไม่มีแนวโน้มลดลง โดยระบุว่าปลาน้ำลึกมีระดับการปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูงที่สุด
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า ระดับรังสีที่พบในปลาทะเลทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นส่วนใหญ่นั้นยังคงปลอดภัยสำหรับการบริโภค แม้ว่ารัฐบาลโตเกียวจะเพิ่มความเข้มงวดของกฏควบคุมในเดือนเมษายนที่ผ่านมา