xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อ‘อิหร่าน’โต้กลับสงครามไซเบอร์ ถล่มหนักบ.น้ำมันตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัทน้ำมันและก๊าซในตะวันออกกลาง กำลังตกเป็นเป้าโจมตีครั้งใหญ่ ในสงครามไฟเบอร์ที่ขยายตัวกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเชื่อกันว่าเริ่มต้นทีเดียวฝ่ายอเมริกาและอิสราเอลเป็นผู้เปิดฉากรณรงค์บ่อนทำลายทางไซเบอร์ครั้งแรก ซึ่งมุ่งเล่นงานโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่มาถึงเวลานี้ฝ่ายนี้กำลังวิตกกังวลว่าต้องกลายเป็นเป้าถูกตอบโต้เข้าบ้างแล้ว
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูกล่าวในช่วงก่อนหน้านี้ของเดือนนี้ว่า ขณะนี้ศัตรูมีความพยายามมากขึ้นที่จะโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ของอิสราเอล แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร
การออกมาแถลงของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล บังเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากวอชิงตันออกคำแถลงซึ่งเป็นการตักเตือนอิหร่านอย่างอ้อมๆ ในเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ รวมทั้งยังแจกแจงให้ทราบถึงหลักการสงครามดิจิตอลฉบับใหม่ของอเมริกา
ทางด้าน เลียน เพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ก็พูดเปิดเผยในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับไวรัส “ชามูน” (Shamoon) ที่โจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์กว่า 300,000 เครื่องของ อารัมโก รัฐวิสาหกิจน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งเล่นงาน ราสกาส โครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทน้ำมัน เอ็กซอน โมบิล คอร์ป ของอเมริกัน กับ กาตาร์ ปิโตรเลียม ของรัฐบาลกาตาร์
นายใหญ่เพนตากอนระบุว่า ไวรัสดังกล่าวเป็นการโจมตีร้ายแรงที่สุดต่อภาคเอกชนเท่าที่เคยมีมา โดยทำให้ อารัมโก ต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์หลังจากถูกโจมตีในวันที่ 15 สิงหาคมเพื่อฟื้นเครือข่ายหลักภายในองค์กร อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
กระนั้น เพเนตตาเตือนว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำคัญในระดับเดียวกับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีความจำเป็นต้องปรับนโยบายรับมือเชิงรุกมากขึ้น
ทั้งนี้ ถ้าหากการส่งออกน้ำมันของซาอุดีฯเกิดสะดุด ก็อาจดันราคาน้ำมันพุ่งขึ้นและฉุดเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วให้เข้าสู่ภาวะถดถอย
เพเนตตาเสริมว่า กองทัพอเมริกันได้พัฒนาความสามารถในการดำเนินการต่อต้านการคุกคามทางไซเบอร์ต่อผลประโยชน์ของประเทศแล้ว ซึ่งคำแถลงเช่นนี้ของเขามีการตีความว่า เป็นการส่งคำตักเตือนถึงอิหร่าน
เจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนามผู้หนึ่งเผยว่า การโจมตีทางไซเบอร์ต่อบริษัทน้ำมันรายใหญ่ในอ่าวเปอร์เซียเช่นนี้ น่าจะเป็นการดำเนินการของภาครัฐ โดยที่อิหร่านเป็นผู้ต้องสงสัยสำคัญ
ท่าทีเช่นนี้สอดคล้องกับความเห็นของเจมส์ ลูอิส ผู้ทำงานด้านความมั่นคงแห่งชาติและระบบคอมพิวเตอร์ให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ และยังเป็นนักวิจัยอาวุโสของกลุ่มคลังสมอง “ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies)
ลูอิสสำทับว่า อเมริกาคุ้นเคยกับการสอดแนมทางไซเบอร์ของรัสเซียและจีน แต่น่าประหลาดใจที่จู่ๆ อิหร่านก็มีความสามารถด้านสงครามดิจิตอลสูงขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า ไม่น่าประหลาดใจหรอกที่อิหร่านพยายามเร่งสร้างสมความสามารถในการทำสงครามดิจิตอล หลังจากเครื่องอุปกรณ์เพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมของตนหลายร้อยเครื่อง ถูกไวรัส “สตักเน็ต” (Stuxnet) ทำลายไปเมื่อปี 2010
ทั้งนี้ เชื่อกันว่า สตักเน็ตเป็นผลงานของอเมริการ่วมกับอิสราเอลที่เชื่อว่า โครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานมีเป้าหมายในการผลิตระเบิดนุก
นอกจากนี้ เดือนเมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สถานีขนถ่ายน้ำมันแห่งหนึ่งของอิหร่านยังถูกโจมตี และปลายปีที่แล้วเกิดเหตุระเบิดที่สถานีขนถ่ายขีปนาวุธซึ่งสื่ออเมริกันรายงานว่า เป็นผลจากไวรัสคอมพิวเตอร์
แคสเปอร์สกี้ แลปส์ ผู้ตรวจพบไวรัส “เฟลม” (Flame) และ “เกาส์” (Gauss) ที่เชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีเหล่านั้น เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วด้วยว่า พบอาวุธจารกรรมทางไซเบอร์แบบใหม่ชื่อว่า “มินิเฟลม” (miniFlame) ซึ่งมีอำนาจในการโจมตีสูงและแม่นยำ พัฒนาขึ้นเพื่อโจรกรรมข้อมูลและเข้าควบคุมระบบที่ติดไวรัสระหว่างปฏิบัติการจารกรรมทางไซเบอร์ โดยพบร่องรอยเบื้องต้นของการโจมตีครั้งใหญ่ในตะวันออกกลาง แต่ยังไม่รู้วัตถุประสงค์ที่สมบูรณ์ของไวรัสเหล่านี้รวมทั้งเหยื่อและผู้โจมตี
คริสเตียง อาร์บูโลต์ ผู้อำนวยการของสถาบันสงครามเศรษฐกิจ (Economic Warfare School) ในปารีส เตือนว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะยุติสงครามไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นสงครามการโฆษณาชวนเชื่ออยู่ในตัว เขาบอกด้วยว่าเป็นไปได้ที่อิหร่านอาจอยู่เบื้องหลังไวรัสชามูน แต่ก็เป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นเพียงข้ออ้างเพิ่มเติมเพื่อทำให้อิหร่านอ่อนแอลงไปอีก หลังจากที่นานาชาติต่างออกมาตรการคว่ำบาตรเตหะรานสืบเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์อิหร่านไปแล้ว
ด้าน นิโคลาส์ อาร์ปาแกง จาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการศึกษาชั้นสูงทางด้านความมั่นคงและการยุติธรรม (National Institute of Advanced Security and Justice Studies) ของฝรั่งเศส มองว่าการโจมตีระลอกล่าสุดแสดงให้เห็นว่า หัวรบของอาวุธดิจิตอลมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อมีคลังแสงหัวรบอาวุธดิจิตอลขนาดนี้ ก็ย่อมหมายความว่าสงครามไซเบอร์กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น