เอเจนซี/เอเอฟพี - สมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์ผู้ทรงนำพากัมพูชาให้เป็นอิสระจากการตกเป็นอาณานิคม ก่อนที่จะต้องทรงกลายเป็นตัวประกันทางการเมืองอย่างน่าเศร้าตลอดจนระยะเวลาหลายสิบปีแห่งความปั่นป่วนวุ่นวายของประเทศชาติ ได้เสด็จสวรรคตแล้วในกรุงปักกิ่งด้วยอาการพระหทัยวาย ขณะมีพระชนมายุ 89 พรรษา ท่ามกลางความโศกสลดของชาวเขมรทั่วประเทศ
เจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ผู้ช่วยคนสนิทของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ความเศร้าโศกเสียใจของราชวงศ์กัมพูชาเท่านั้น แต่เป็นโศกสลดสำหรับชาวกัมพูชาทุกคน เนื่องจากสมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงเป็นพระบิดาของประเทศ
ธงชาติทั่วกัมพูชาถูกลดลงครึ่งเสา บรรยากาศในกรุงพนมเปญในวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของเทศกาลสารทเขมรเงียบสงัด
สถานีทีวีกัมพูชาแพร่ภาพสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ขณะที่เครือข่ายสังคม เช่น เฟซบุ๊ก เต็มไปด้วยข้อความแสดงความอาลัยและพระบรมฉายาลักษณ์ของอดีตกษัตริย์พระองค์นี้
สมเด็จพระนโรดมสีหมุนี กษัตริย์องค์ปัจจุบันของกัมพูชา ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ และนายกรัฐมนตรีฮุน เซน โอบกอดกันร่ำไห้ ก่อนเสด็จและขึ้นเครื่องบินเดินทางไปอัญเชิญพระบรมศพที่ปักกิ่ง โดยคาดว่าจะกลับมาถึงกรุงพนมเปญในวันพุธ(17)
โฆษกรัฐบาล นายเขียว กันหะฤทธิ์ บอกกับเอเอฟพีว่าจะอัญเชิญพระบรมศพตั้งที่พระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้พสกนิกรชาวกัมพูชาได้ถวายบังคมแสดงความไว้อาลัย
เขากล่าวแสดงความคาดหมายว่า ประชาชนเป็นจำนวนแสนๆ คนจะเข้าแถวเรียงรายตามท้องถนนสายต่างๆ ในกรุงพนมเปญ ในระหว่างการอัญเชิญพระบรมศพกลับมา ซึ่งถือเป็นการเสด็จนิวัติสู่กัมพูชาครั้งสุดท้าย
ถึงแม้ในช่วงปีหลังๆ นี้ สมเด็จพระนโรดมสีหนุ พร้อมสมเด็จพระชายาโมนิก ซึ่งเป็นพระชายาองค์ที่ 6 เสด็จไปประทับที่กรุงปักกิ่งเป็นส่วนใหญ่ เพื่อทรงรับการรักษาโรคมะเร็ง เบาหวาน และอื่นๆ โดยขณะที่พระสุขภาพอ่อนแอลงมาก อิทธิพลทางการเมืองของพระองค์ก็ลดทอนลง จนเห็นกันว่าการเสด็จไปจีนเสมือนเป็นการเนรเทศพระองค์เองกลายๆ แต่พระองค์ยังคงเป็นที่เคารพรักของชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ และยังเป็นที่จดจำในฐานะองค์พระประมุขของประเทศในช่วงเวลาหลายทศวรรษแห่งความปั่นป่วนผันผวน
สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงขึ้นสู่อำนาจหลังได้รับเลือกจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดสืบต่อจากพระราชปิตุลา คือ กษัตริย์สีโสวัฒน์มณีวงศ์ ในปี 1941 ขณะทรงมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา ทว่าหลังจากนั้นไม่นานพระองค์ก็ทรงพยายามผลักดันเพื่อปลดแอกจากปารีส และทรงดำเนินการสำเร็จในปี 1953
กษัตริย์นักรัก ผู้กำกับภาพยนตร์มือสมัครเล่น และนักพูดเจ้าเสน่ห์ที่ตรัสคล่องแคล่วทั้งภาษาเขมร ฝรั่งเศส และอังกฤษ กลายเป็นที่รักใคร่ของประชาชน
ปลายทศวรรษ 1960 หลังจากสละราชสมบัติมาเกือบ 10 ปีเพื่อเข้ามาสร้างสมอิทธิพลทางการเมืองโดยตรง สมเด็จพระนโรดมสีหนุยังคงไม่สามารถหยุดยั้งประเทศจากการถลำเข้าสู่สงครามเวียดนาม และ “ทุ่งสังหาร” ภายใต้การปกครองของเขมรแดงในทศวรรษ 1970 ที่มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 1.8 ล้านคนในช่วงปฏิวัติลัทธิเหมาอิสต์สุดโต่งของพอลพต
ในช่วงที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด สมเด็พระนโรดมสีหนุทรงจัดการกับผู้ต่อต้านและฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง รวมทั้งพยายามเล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับตะวันออกและตะวันตก ด้วยการพะเน้าพะนอวอชิงตันสลับกับเอาใจมอสโกในยุคสงครามเย็น
สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มอนุรักษนิยมด้วยการยุติการรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในปี 1963 และช่วยจีนส่งอาวุธให้คอมมิวนิสต์เวียดนามรบกับอเมริกา
แต่แล้ว นายพลลอน นอล ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาซึ่งต้องการขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาและเวียดนาม ก็ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจระหว่างเสด็จเยือนมอสโกในปี 1970 และต่อมาในปี 1973 สมเด็จพระนโรดม สีหนุก็ทรงทำข้อตกลงกับกลุ่มเขมรแดง เพื่อร่วมกันต่อต้านระบอบปกครองหุ่นเชิดของสหรัฐฯ
ภายหลังเขมรแดงได้ชัยชนะยึดครองประเทศได้ในปี 1975 ซึ่งตามมาด้วยช่วงเวลาแห่งความโหดร้ายทารุณนาน 4 ปี ซึ่งทำให้ประชาชนเกือบ 1 ใน 4 เสียชีวิตจากการขาดอาหาร โรคภัยไข้เจ็บ การประหารชีวิตหรือทรมาน สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงมีฐานะไม่ผิดอะไรกับหุ่นเชิด และทรงถูกกักขังเป็นนักโทษภายในพระราชวัง
เช่นเดียวกับครอบครัวส่วนใหญ่ในกัมพูชา พระองค์ไม่สามารถรอดพ้นโศกนาฏกรรมจากความเหี้ยมโหดของพอลพต โดยทรงเสียพระโอรสและพระธิดารวม 5 องค์จากที่ทรงมีทั้งสิ้น 14 พระองค์
เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาและโค่นล้มระบอบปกครองเขมรแดงในปี 1979 สมเด็จพระนโรดมสีหนุซึ่งใกล้ชิดกับผู้นำปฏิวัติของจีน คือ เหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล ก็ได้ทรงหนีไปยังแดนมังกร จากนั้นก็ทรงตัดสินพระทัยกลับมาร่วมมือกับพวกเขมรแดงทำสงครามกองโจรกับรัฐบาลของฮุนเซนที่เป็นหุ่นเชิดของฮานอย
ภายหลังสนธิสัญญาสันติภาพที่สหประชาชาติเป็นแม่งาน แม้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทว่าฮุนเซนกลับมีอำนาจเพิ่มขึ้นทุกทีๆ และสมเด็จพระนโรดม สีหนุก็ทรงกลายเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจจำกัด ชะตากรรมของราชวงศ์รวมทั้งชะตากรรมของกัมพูชาตกอยู่ในมือฮุน เซน แทบจะสิ้นเชิง
สมเด็จนโรดมสีหนุทรงสละราชสมบัติอีกครั้งในปี 2004 และเสด็จพำนักในปักกิ่ง โดยเจ้าชายสีโสวัฒน์ระบุว่า สาเหตุการสละราชสมบัติครั้งสุดท้ายก็เพื่อรักษาราชวงศ์และทำให้กัมพูชามีเสถียรภาพ