เอเอฟพี - ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดเผยให้เห็นว่า การก่อสร้างฐานยิงจรวดแห่งใหม่ซึ่งเกาหลีเหนืออาจใช้ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป หยุดชะงักลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และอาจทำให้โครงการดังกล่าวต้องล่าช้าไปอีกถึง 2 ปี เว็บไซต์สหรัฐฯรายงาน วันนี้(25)
ภาพจากดาวเทียมเชิงพาณิชย์ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เผยให้เห็นว่า การก่อสร้างอาคารเก็บเชื้อเพลิงและออกซิไดเซอร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกับฐานยิงในสถานีส่งจรวดทงแฮ ยังไม่มีความคืบหน้า เว็บไซต์ 38 North รายงาน
“การก่อสร้างที่ช้าลงอาจทำให้กำหนดเปิดใช้งานฐานยิงต้องล่าช้าไปอีก 1-2 ปี”
เว็บไซต์ 38 North ซึ่งดำเนินงานโดยสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลี วิทยาลัยวิเทศศึกษาชั้นสูง มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ระบุว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่โครงการก่อสร้างหยุดชะงักลงไป แต่คาดว่าปัจจัยหนึ่งน่าจะเกิดจากฝนที่ตกหนักในระยะนี้
ฐานยิงจรวดแห่งใหม่ที่สถานีทงแฮ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือ มีกำหนดสร้างเสร็จภายในปี 2015 ซึ่ง North 38 ให้ข้อมูลว่า เปียงยางอาจใช้ฐานยิงแห่งนี้ทดสอบจรวดที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม และอาจมีพิสัยยิงไกลข้ามทวีปด้วย
แม้การก่อสร้างฐานยิงแห่งใหม่จะล่าช้า แต่เกาหลีเหนือยังคงมีสถานีส่งจรวดโซแฮเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สถานีแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ส่งจรวด อึนฮา-3 ซึ่งเปียงยางอ้างว่าจะนำดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่อวกาศ ก่อนที่แผนดังกล่าวจะล้มเหลวไป
อย่างไรก็ดี เกาหลีเหนือยังเดินหน้าปรับปรุงฐานยิงจรวดเคลื่อนที่ ซึ่งเคยใช้ทดสอบจรวดพิสัยไกลเมื่อปี 2006 และ 2009 ภาพถ่ายดาวเทียมเผย
บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ 38 North ชี้ว่า ดาวเทียมสามารถจับภาพปล่องไอเสีย (exhaust hole) บนฐานจรวด ซึ่งโดยปกติจะมองไม่เห็น
“เส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องไอเสียมีขนาดพอๆกับฐานยิงที่โซแฮ แสดงว่ามันน่าจะใช้กับจรวดประเภทเดียวกัน”
ทั้งนี้ อาคารควบคุมการส่งจรวดที่ฐานยิงทงแฮดูจะเป็นสิ่งก่อสร้างเพียงอย่างเดียวที่คืบหน้าไปมากที่สุด เว็บไซต์เผย
เกาหลีเหนือซึ่งว่ากันว่ามีพลูโตเนียมมากพอผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ 6-8 ลูก เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2006 และครั้งที่สองเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2009 โดยทั้ง 2 ครั้งล้วนเกิดขึ้นหลังการทดสอบขีปนาวุธประมาณ 1 เดือน