เอเอฟพี - รัฐบาลอิหร่านบล็อกการเข้าใช้บริการ จีเมล (Gmail) ในวันนี้(24) ตามแผนจัดทำระบบอินทราเน็ตแห่งชาติที่แยกออกจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโลก
ประชาชนในอิหร่านพบว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ (https://www.google.com) ซึ่งเป็นโปรโทคอลที่ปลอดภัยของกูเกิลได้ โดยสามารถใช้ได้เพียงเวอร์ชันปกติ (www.google.com) เท่านั้น
ทางการอิหร่านประกาศแจ้งให้พลเมืองทราบทางข้อความโทรศัพท์มือถือ โดยอ้างคำแถลงของ อับดอลซามาด คอรามาบาดี ที่ปรึกษาสำนักงานอัยการอิหร่าน และเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
“ตามที่ประชาชนจำนวนมากได้แจ้งความประสงค์มา นับจากนี้เว็บไซต์ กูเกิล และ จีเมล จะต้องผ่านระบบคัดกรองทั่วประเทศ จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น” ข้อความดังกล่าว ระบุ
ล่าสุด ระบบตรวจสอบการใช้งานเป็นรายประเทศของ กูเกิล ได้ตรวจพบการบล็อกเว็บไซต์ครั้งนี้แล้ว (www.google.com/transparencyreport/traffic/?r=IR&1=GMAIL&csd=1230796800000&ced=1348461000000)
ชาวอิหร่านในกรุงเตหะรานให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า พวกเขาไม่สามารถล็อกอินบัญชี จีเมล ได้ หากไม่ได้ใช้ข่ายส่วนตัวเสมือน (วีพีเอ็น) ซึ่งเป็นช่องทางที่นักท่องอินเทอร์เน็ตในอิหร่านใช้หลบเลี่ยงระบบเซ็นเซอร์ของรัฐบาล
นักธุรกิจชาวอิหร่านส่วนใหญ่ใช้ จีเมล ในการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันนี้ เศรษฐกิจอิหร่านกำลังย่ำแย่เพราะถูกกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก ซึ่งทำให้เตหะรานจำหน่ายน้ำมันดิบได้น้อยลง และทำมาค้าขายกับชาติอื่นๆลำบากขึ้น
อิหร่านเคยสั่งบล็อก กูเกิล และ จีเมล เป็นการชั่วคราวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งรัฐสภา
ด้านเว็บไซต์ยูทิวบ์ก็ถูกทางการอิหร่านเซ็นเซอร์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2009 ซึ่งเป็นปีที่ประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด ได้รับเลือกเป็นผู้นำอิหร่านสมัยที่ 2 ท่ามกลางเสียงประท้วงและข้อครหาจากพรรคฝ่ายค้านเรื่องการโกงเลือกตั้ง
สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ก็ถูกปิดกั้นอย่างสม่ำเสมอในอิหร่านเช่นกัน
เตหะรานมีโครงการจัดทำเครือข่ายอินทราเน็ตแห่งชาติที่ปราศจากเนื้อหาอันขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม โดยเจ้าหน้าที่อิหร่านอ้างว่า เครือข่ายตัวใหม่จะมีความปลอดภัยและรวดเร็วกว่าเดิม แม้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานจะถูกรัฐบาลตรวจสอบง่ายขึ้นก็ตาม
โมฮัมเหม็ด โซเลย์มานี ประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารแห่งรัฐสภาอิหร่าน ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว ISNA เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “การจัดทำอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ (National Internet) ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะถูกปิดกั้นจากอินเทอร์เน็ต”
“การห้ามมิให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเลยย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการคว่ำบาตรตัวเราเอง ซึ่งไม่มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม กระบวนการคัดกรองเนื้อหาจะยังมีอยู่ต่อไป” โซเลย์มานี ระบุ