เอเจนซี - สำนักข่าวรอยเตอร์ชี้คดีหลานชายของนายเฉลิม อยู่วิทยา ผู้บริหารบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง กำลังเป็นข่าวครึกโครมและก่อข้อถกเถียงด้านความเท่าเทียมทางสังคมตามเว็บไซต์ข่าวและเว็บบอร์ดต่างๆ ขณะที่คนทั่วไปตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมการหลุดพ้นโทษของนักธุรกิจผู้มั่งมีและพวกผู้นำทางการเมืองอาจได้รับชัยชนะอีกครั้ง
นายวรยุทธ อยู่วิทยา วัย 27 ปี หลานชายของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ให้กำเนิดแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังชื่อก้องโลก ก่อเหตุขับรถเฟอร์รารีชนตำรวจเสียชีวิต ย่านใจกลางกรุงเทพฯ เบื้องต้นเขาหลบหนีจากที่เกิดเหตุ แต่ต่อมาก็เข้ามอบตัวและยอมรับว่าขับรถชนตำรวจจริง ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาด้วยวงเงิน 500,000 บาท
รอยเตอร์ระบุว่า แม้นายวรยุทธยังไม่ได้ถูกนำตัวขึ้นศาล แต่ดูเหมือนว่าประชาชนบนโลกอินเทอร์เน็ต มีเพียงเล็กน้อยที่เชื่อว่าเขาจะถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม “คุกมีไว้สำหรับคนจน พวกคนรวยไม่เคยถูกลงโทษ เดี๋ยวก็หาแพะมารับบาป” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งโพสต์ความเห็นบนเว็บไซต์พันทิป
เช่นเดียวกับความเห็นหนึ่งที่โพสต์บนเว็บไซต์ Manager.co.th ระบุว่า “บางทีเขาอาจโดนแค่ทัณฑ์บน ค่าของชีวิตคืออะไร” สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน
สื่อมวลชนชื่อดังแห่งนี้รายงานด้วยว่า โทษรอลงอาญาดูเหมือนเป็นบรรทัดฐานการตัดสินสำหรับผู้ทรงอำนาจทางการเมืองและคนไทยที่มีเส้นสายดีไปเสียแล้ว
ในเดือนกรกฎาคม ด้วยระยะห่างเพียง 5 วัน ส.ส.จากพรรครัฐบาล 2 คน และอดีตรองนายกรัฐมนตรีถูกพบว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งก็ได้รับโทษรอลงอาญา ขณะที่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร รองประธานวุฒิสภา ซึ่งถูกตัดสินว่าขึ้นเงินเดือนตนเองอย่างผิดกฎหมายครั้งที่ดำรงตำแหน่งตรวจการแผ่นดิน ก็รอดพ้นการถูกจำคุกเช่นกัน
เช่นเดียวกับคดีที่ น.ส.แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่เมื่อวันศุกร์ (31) มีคำพิพากษารอลงอาญา ฐานเป็นเหตุแห่งการเสียชีวิตของประชาชน 9 คนในปี 2010 จากกรณีที่เธอขับรถชนท้ายรถตู้โดยสารคันหนึ่ง คดีนี้ก่อความเดือดดาลในโลกสังคมออนไลน์ที่ไม่พอใจว่าทำไมเด็กสาวรายนี้ที่มาจากครอบครัวชนชั้นสูงถึงรอดพ้นโทษจำคุก แถมยังถูกห้ามขับรถแค่ 7 เดือนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน รอยเตอร์ระบุอีกว่ายังมีอีกหลายคดีที่ไม่เคยแม้กระทั่งถูกส่งไปถึงมือศาล ด้วยรัฐมนตรีหรือข้าราชการระดับสูงบางส่วนถูกพบว่าพัวพันกับการคอรัปชันจนต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่พวกเขากลับไม่ต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางอาญา แถมบางกรณีแค่คำขอโทษก็ดูเหมือนจะพอเพียงแล้ว
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักแสดงคนดัง “พลอย” เฌอมาลย์ บุณยศักดิ์ ถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษี ได้ร่ำไห้ต่อหน้าสื่อมวลชนและกล่าวโทษสำนักบัญชีสำหรับความผิดพลาดโดยสุจริต แม้ก่อนหน้านี้เพิ่งโพสต์ภาพตนเองเคียงข้าง เป๊ก-สัณชัย ลูกชายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ลงบนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมกับข้อความใต้ภาพว่า “อย่ามามีเรื่องกับพวกเรานะว้อย”
รอยเตอร์ระบุว่า การอ้างเหตุผลด้วยถ้อยคำ “บกพร่องโดยสุจริต” เคยถูกใช้โดยทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเช่นกัน โดยตอนนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2001 ครั้งที่เขาถูกชำระคดีฐานซุกห้นมูลค่า 4,500 ล้านบาท ไว้กับคนรับใช้และนักธุรกิจรายหนึ่ง
แต่พออีกคดี หลังจากถูกรัฐประหารโค่นล้มในปี 2006 ทักษิณถูกตัดสินจำคุก 2 ปี ฐานผลประโยชน์ขัดแย้งในอีก 2 ปีต่อมา อดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ซึ่งหลบหนีไปยังต่างแดนกลับกล่าวอ้างว่าคำพิพากษามีแรงจูงใจทางการเมือง เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่
สำนักข่าวดังแห่งนี้รายงานต่อว่า ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งก็ก่อเสียงคร่ำครวญในสังคมไทยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนที่แล้วการโยกย้ายลูกชายของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จากทหารสู่ตำรวจจุดชนวนความไม่พอใจในหมู่นักการเมืองฝ่ายค้าน และก็ไม่ใช่แค่ประเด็นเกื้อหนุนญาติมิตรเท่านั้น
เพราะว่าก่อนหน้านี้นายดวงเฉลิม อยู่บำรุง ก็ได้รับการชำระคดีในปี 2004 ฐานยิงตำรวจชั้นผู้น้อยรายหนึ่งเสียชีวิต ณ ไนต์คลับท่ามกลางฝูงชน ด้วยเหตุผลหลักฐานไม่เพียงพอ และแม้ตอนนั้นนายดวง จะถูกปลดออกจากราชการฐานละทิ้งหน้าที่ เนื่องจากเขาหลบหนีการจับกุมไปยังมาเลเซีย แต่ไม่กี่ปีต่อมาก็มีการคืนยศให้เขาตามเดิม