รอยเตอร์ - เพียง 1 ใน 5 บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นต้องการให้สัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานปรมาณูลดลงจนเหลือศูนย์ ภายในปี 2030 ผลสำรวจของรอยเตอร์เผยวันนี้ (27) ท่ามกลางเสียงต่อต้านนิวเคลียร์ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ หลังเกิดหายนะที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม โพลดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับค่าไฟฟ้าที่ต้องเพิ่มขึ้นหากไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ โดยผู้ตอบคำถามส่วนที่เหลือยังสนับสนุนบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เลือกให้สัดส่วนพลังงานปรมาณูนั้นอยู่ที่ 15%
รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาทางเลือก 3 ทางสำหรับประเด็นพลังงาน คือ ลดบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ให้เหลือศูนย์โดยเร็วที่สุด ตั้งเป้าให้เหลือ 15% ภายในปี 2030 หรือปรับลงมาอยู่ที่ 20-25% ในช่วงเวลาเดียวกัน จากราว 30% ก่อนหน้าภัยพิบัติที่ฟูกูชิมะ
ผลสำรวจของรอยเตอร์ระบุว่า 19% ของบริษัทใหญ่อยากให้ลดบทบาทพลังงานนิวเคลียร์เหลือ 0% แต่ 39% ยังเห็นว่าควรคงบทบาทพลังงานนิวเคลียร์ไว้ที่ 15% ภายในปี 2030 ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่เตรียมรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และลดการพึ่งพาพลังงานปรมาณูแล้ว
1 ใน 4 ของ 400 บริษัทใหญ่ที่ร่วมการสำรวจความเห็น ซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ 6-21 สิงหาคม เผยว่า พวกเขาต้องการสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์ 20-25% และหวังว่าจะเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีก
โพลนี้สะท้อนให้เห็นจุดยืนบางส่วนของสมาพันธ์ธุรกิจใหญ่ ไคดันเรน ของญี่ปุ่น ซึ่งสนับสนุนความจเป็นในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูง ซึ่งอาจส่งผลให้หลายๆ บริษัทต้องย้ายออกนอกประเทศ จนเกิดผลเสียหายต่อการจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อเทียบกับผลสำรวจของรัฐบาล ที่สอบถามบุคคลทั่วไปเกือบ 300 คนก่อนหน้านี้ โพลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเกือบครั้งหนึ่งของผู้ร่วมตอบคำถาม เห็นด้วยกับทางเลือก 0%