ซีบีเอสนิวส์ - ส่วนผสมบางอย่างในเนยเทียม ที่ใช้ปรุงแต่งรสและกลิ่นให้กับข้าวโพดคั่ว อาจส่งผลเสียทำให้โปรตีนในสมองผิดปกติ ซึ่งนั่นอาจโยงไปถึงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
การศึกษาชิ้นใหม่ในงานวิจัยทางเคมีด้านพิษวิทยาตรวจพบสารไดอะซิทิล เป็นส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตสารปรุงแต่งกลิ่นและรสเนยในไมโครเวฟป็อปคอร์น มาร์การีน ลูกกวาด ขนมอบ หรือแม้แต่อาหารสัตว์เลี้ยง ตลอดจนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในเครื่องดื่มหมักอย่างเบียร์ หรือไวน์ชาดอเน
นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ในเมืองมินนิอาโพลิส ทำการวิเคราะห์สารไดอะซิทิล สารเคมีที่ก่อนหน้านี้เชื่อมโยงกับปัญหาระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดกับลูกจ้างในโรงงานผลิตไมโครเวฟป๊อบคอร์น และสารปรุงแต่งกลิ่นและรส
พวกเขาพบว่า สารไดอะซิทิลนี้มีโครงสร้างเช่นเกียวกับสสารที่ผลิตโปรตีนบีตา-แอมีลอยด์ ซึ่งหากแอมีลอยด์จับตัวกันมากเกินไปจนเป็นคราบสะสมก็จะก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ในสมองต่อมา โดยเหล่านักวิจัยต้องการพิสูจน์ว่าไดอะซิทิลจะสามารถจับตัวกับโปรตีนเป็นคราบเช่นเดียวกันได้หรือไม่
ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่า สารไดอะซิทิลนั้นนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับการจับตัวของบีตา-แอมีลอยด์ ที่ก่อพิษในเซลล์ประสาท ที่พวกเขาเลี้ยงไว้ในห้องทดลอง และสามารถแทรกซึมผ่านชั้นเซลล์ผนังกั้นสมองได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษานี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงสาเหตุและผลกระทบระหว่างสารเคมีดังกล่าวกับโรคอัลไซเมอร์ และผลการวิจัยดังกล่าวก็ยังไม่ได้ทำการทดลองกับมนุษย์ แต่เป็นเพียงแค่ในหลอดทดลองเท่านั้น