xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญเตือน “เมืองใหญ่เอเชีย” เสี่ยงภัยพิบัติเพราะขาดวิสัยทัศน์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุทกภัยในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2554
เอเอฟพี - น้ำท่วมใหญ่ที่มีคนตายจำนวนมาก, ไฟฟ้าดับครึ่งค่อนประเทศ, และการจราจรติดขัดเรื้อรัง, เหล่านี้คือสัญญาณร้ายที่บ่งชี้ว่า หลายนครในเอเชียกำลังถูกบีบคั้นด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว, สภาพอากาศแปรปรวน และการหลั่งไหลของประชากรจากชนบทสู่เมืองใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การวางยุทธศาสตร์อย่างไร้ประสิทธิภาพ, การละเลยที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการขาดเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ทางการเมือง คือปัจจัยหลักที่ทำให้เมืองสำคัญในภูมิภาคแถบนี้ยิ่งเสี่ยงต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครและกรุงมะนิลาต่างเผชิญอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ขณะที่อินเดียก็เพิ่งผ่านวิกฤตการณ์ไฟฟ้าดับครึ่งค่อนประเทศ เนื่องจากความต้องการพลังงานเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม, ครัวเรือน และสำนักงาน เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์เช่นนี้กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของเอเชีย ซึ่งมีประชากรหลุดพ้นจากความยากจนปีละหลายล้านคน แต่ก็ต้องกลับไปสู่สภาพพลเมืองโลกที่สามทุกครั้งที่ภัยธรรมชาติเข้ามารุกราน

อาจารย์ ซุน เช็งฮาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า หลายนครในเอเชียยังล้าหลังในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการระบายน้ำ, ถนนหนทาง หรือการจ่ายกระแสไฟฟ้า

ซุน ชี้ว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่รัฐบาลขาดวิสัยทัศน์ และออกนโยบายโดยเน้น “จุดมุ่งหมายทางการเมืองและเป้าหมายทางเศรษฐกิจ” เป็นหลัก

ในกรณีของกรุงเทพมหานครซึ่งประสบกับมหาอุทกภัยในกลางปีที่แล้ว การขุดเจาะน้ำบาดาลอย่างไม่บันยะบันยังเพื่อสนองความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมและประชากร 12 ล้านคน กำลังย้อนกลับมาสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เมืองหลวงของไทยแห่งนี้

แม้จะมีคำเตือนว่า กรุงเทพมหานครซึ่งตั้งอยู่บนที่ลุ่มน้ำท่วมถึง จะต้องทรุดตัวต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในอีกครึ่งศตวรรษข้างหน้า แต่โครงการก่อสร้างตึกระฟ้าและอพาร์ตเมนท์ก็ยังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ กำลังประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในขณะนี้
สำหรับกรุงมะนิลา ซึ่งต้องเผชิญน้ำท่วมครั้งร้ายแรงในช่วงเดือนนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การขยายตัวของเมืองแบบขวางเส้นทางน้ำ และระบบระบายน้ำที่ไม่ได้รับการซ่อมบำรุง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมโหฬาร

พื้นที่ป่าชานกรุงมะนิลาถูกแผ้วถางเพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับชนชั้นกลางและมหาเศรษฐี ส่วนภายในตัวเมืองก็มีผู้บุกรุกที่ดินเข้ามาสร้างกระต๊อบอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ, ทางระบายน้ำ และคูคลอง ทั้งยังทิ้งขยะกีดขวางเส้นทางน้ำด้วย

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีประเทศใดที่เจอปัญหาท้าทายหนักเท่าอินเดีย เมื่อการใช้พลังงานแบบเกินพิกัดส่งผลให้ไฟฟ้าดับครึ่งประเทศติดต่อกัน 2 วันเมื่อเดือนที่แล้ว สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวภารตะไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน

องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ปัจจุบันพลเมืองอินเดีย 1.2 พันล้านคนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่จีนและประเทศพัฒนาแล้วมีสัดส่วนประชากรในเมืองถึง 50.6 และระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ยูเอ็น ทำนายว่า ประชากรในเขตเมืองของอินเดียจะเพิ่มเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ หรือ 606 ล้านคน ภายในปี 2030 ซึ่งหมายความว่า ภาคพลังงานจะต้องเร่งผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อสนองความต้องการของชนชั้นกลาง ซึ่งนิยมเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวกเครื่องปรับอากาศ, เตาไมโครเวฟ, เครื่องซักผ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ

ด้านสถาบันวิจัย แมคคินซีย์ โกลบอล อินสทิทิวท์ ระบุว่า อินเดียยังต้องขยายระบบรางเพื่อการคมนาคมขนส่ง เพิ่มอีกปีละ 350-400 กิโลเมตร และต้องตัดถนนอีก 19,000-25,000 กิโลเมตร
รถไฟในอินเดียซึ่งมีผู้โดยสารแน่นขนัดทุกวัน
มุมไบ เมืองใหญ่ที่สุดของอินเดีย จัดเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีผู้อยู่อาศัยราว 20,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ทุกวันๆจะมีผู้โดยสารรถไฟไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน และทุกๆ ปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนรางรถไฟไม่น้อยกว่า 3,000 คน

“ช่วงเวลาเร่งด่วนถือเป็นปัญหาใหญ่ บางครั้ง(รถไฟ)ก็แน่นมากจนแทบไม่มีอากาศหายใจ” สุธีร์ แกดจิล ผู้ช่วยประจำสำนักงานในย่านธุรกิจทางตอนใต้ของมุมไบกล่าว พร้อมเผยว่า ตนต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งในการนั่งรถไฟไปทำงาน

สำหรับกรุงธาการ์ เมืองหลวงของบังกลาเทศ การจราจรติดขัดก็กลายเป็นเรื่องปกติจนบางคนอยากจะทิ้งชีวิตในเมืองออกไปอยู่ตามชนบทมากกว่า

ส่วนกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ติดอันดับบ๊วยจากทั้งหมด 23 เมืองในการสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารทั่วโลกประจำปี 2011 โดยศูนย์วิจัย ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนส์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เครือข่ายรถประจำทางที่เก่าแก่และการปราศจากระบบราง จะทำให้ถนนในกรุงจาการ์ตาแออัดถึงขั้นวิกฤต ภายในปี 2014
กำลังโหลดความคิดเห็น