xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: กราดยิง "วิหารซิกข์" เหตุรุนแรงล่าสุดจี้สหรัฐฯ ออกกฏหมายควบคุมปืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และเศร้าสลดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในดินแดนสหรัฐฯ ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ เมื่อมือปืนผิวขาวบุกกราดยิงวิหารของศาสนาซิกข์ในมลรัฐวิสคอนซิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บสาหัสอีก 3 ก่อนถูกตำรวจวิสามัญฯ เมื่อวันอาทิตย์ (5) หลังจากก่อนหน้านี้ มือปืนอีกรายเพิ่งก่อเหตุกราดยิงในโรงภาพยนตร์ที่กำลังฉายหนังแบทแมน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน ไปเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งไม่ว่าทั้งสองคดีนี้จะเป็นการก่อการร้ายภายในประเทศหรือไม่ แต่สิ่งที่ชาวอเมริกันจำนวนมาก คาดหวัง และตั้งข้อสงสัยจากบทเรียนของ 2 เหตุการณ์นี้ ตลอดจนการโจมตีครั้งอื่นๆ ก็คือการทบทวนวิถีทางในการลดความรุนแรง ที่เกิดจากการใช้อาวุธปืนภายในสหรัฐฯ
วิหารซิกข์ในโอ๊กครีก ชานเมืองมิลวอกี มลรัฐวิสคอนซิน สถานที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยอาวุธปืนครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ
เวด ไมเคิล เพจ ชายผิวขาวร่างสูงศีรษะล้าน วัย 40 ปี บุกเข้าไปในวิหารซิกข์ในโอ๊กครีก ชานเมืองมิลวอกี มลรัฐวิสคอนซิน พร้อมอาวุธปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติขนาด 9 มม. และกระสุนอีกหลายแมกกาซีน ซึ่งล้วนถูกซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย และเปิดฉากกราดยิงเข้าใส่เหล่าผู้สักการะบูชา ที่เข้าร่วมศาสนพิธีในวันอาทิตย์ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตภายในวิหาร 4 ราย อีก 3 คน ถูกยิงตายด้านนอก ซึ่งรวมถึงมือปืนที่ถูกตำรวจยิงสวนกลับ ขณะซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับสายแจ้งเหตุฉุกเฉินและเดินทางมาช่วยเหยื่อ

เพจเคยรับราชการในฐานะผู้เชี่ยวชาญการปฏิบัติการทางจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่ซ่อมขีปนาวุธในกองทัพสหรัฐฯ ระหว่างเดือนเมษายน ปี 1992 – ตุลาคม ปี 1998 และจบอาชีพของเขา ณ ฐานทัพทหารในฟอร์ท แบรกก์ มลรัฐนอร์ธแคโรไลนา เนื่องจากถูกจับได้ว่าเมาสุราระหว่างปฏิบัติหน้าที่จนถูกปลด และขาดคุณสมบัติในการเข้าประจำการเป็นทหารอีกครั้ง

นอกจากนี้ หน่วยข่าวกรองเอสไอทีอีของสหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน เซาเธิร์น พอเวอร์ตี ลอว์ เซ็นเตอร์ ยังตราหน้าว่า เพจเป็นพวกลัทธินีโอ-นาซี โดยเคยเป็นสมาชิกกลุ่มแฮมเมอร์สกินส์ เนชัน ซึ่งเลือกใช้ชีวิตแบบพวกสกินเฮด ที่เหยียดสีผิวและนิยมความรุนแรง และเมื่อไม่นานมานี้ เขายังเข้าร่วมวงดนตรีแนวฮาร์ดคอร์พังค์ “End Apathy”ที่สมาชิกในวงแสดงสัญลักษณ์ของพวกลัทธินิยมความรุนแรงมากมาย รวมถึงเครื่องหมายสวัสดิกะด้วย
เวด ไมเคิล เพจ มือปืนผู้ก่อเหตุกราดยิงวิหารซิกข์ ซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 6 ราย ก่อนที่ตัวเองจะถูกตำรวจวิสามัญฯ
ด้าน สำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ก็กำลังสอบสวนว่าเหตุการณ์นี้เป็นการก่อการร้ายภายในประเทศหรือไม่ แม้จะยังไม่สามารถระบุแรงจูงใจในการก่อเหตุได้ โดยที่มือปืนรายนี้ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมใดๆ ในแฟ้มคดีของเอฟบีไอเลย ขณะเดียวกันก็พยายามสืบสาวหาความสัมพันธ์ระหว่างคนร้ายกับพวกลัทธิเหยียดสีผิวหลายกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเขาลงมือก่อเหตุสังหารกลุ่มชาวซิกข์เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นชาวมุสลิม หรือมีความตั้งใจสังหารชาวซิกข์โดยตรง

ทั้งนี้ ซิกข์เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดอันดับ 5 ของโลกคือกว่า 30 ล้านคน สำหรับในสหรัฐฯ คาดว่ามีชาวซิกข์อาศัยอยู่อย่างน้อย 500,000 คน ตามประเพณี ชาวซิกข์จะสวมผ้าโพกศีรษะ และไว้หนวดเครา ซึ่งมักถูกคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าเป็นชาวมุสลิม โดยเฉพาะหลังจากเหตุวินาศกรรม เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ด้วยฝีมือของผู้ก่อการร้ายอิสลาม ขณะที่ ซิกข์ โคเอลิชัน องค์การตัวแทนชาวซิกข์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เผยว่าได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากสมาชิกนับร้อยกรณี เกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติทั้งในการจ้างงาน อาชญากรรมจากความเกลียดชัง และการรังแกที่โรงเรียน นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11

การโจมตีครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์หลังเหตุมือปืนหนุ่มกราดยิงโรงหนังขณะฉายภาพยนตร์แบทแมนในเมืองออโรรา มลรัฐโคโลราโด ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีก 58 คน รวมถึงละม้ายคล้ายเหตุการณ์ในเดือนมีนาคม 2005 ในเมืองบรูคฟิลด์ รัฐวิสคอนซินเช่นเดียวกัน ที่มือปืนบุกยิงผู้ร่วมพิธีในโรงแรมแห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คนก่อนยิงตัวตาย อีกทั้งยังหวนให้ระลึกถึงเหตุกราดยิงที่วิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค และโรงเรียนมัธยมปลายโคลอมไบน์ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ราย และ 12 ราย ในปี 2007 และ 1999 ตามลำดับ ซึ่งต่างยังปรากฏชัดในความทรงจำของชาวอเมริกัน
ชุมชนชาวซิกข์ในเมืองมิลวอกี วิสคอนซิน ร่วมกันจุดเทียนเพื่อระลึกถึงเหยื่อ 6 รายในเหตุโจมตีครั้งนี้
แต่ละเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้รื้อฟื้นให้ชาวอเมริกันหยิบยกประเด็นการควบคุมอาวุธปืน และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยสิทธิของพลเมืองในการครอบครองอาวุธ ขึ้นมาโต้เถียงกันอยู่เสมอ ซึ่งในครั้งนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามาก็ออกมาเรียกร้องถึงความจำเป็นในการพิจารณาตนเองเกี่ยวกับวิธีการลดความรุนแรงภายในประเทศ แต่บรรดานักวิเคราะห์กลับมองว่า ชาวอเมริกันไม่พร้อมสำหรับการทบทวนตนเองในประเด็นการครอบครองปืน ด้วยตัวเลขจำนวนปืนถึง 258 ล้านกระบอกที่อยู่ในมือของบุคคลทั่วไป ประกอบกับผลสำรวจของแกลลอปในเดือนตุลาคม ปี 2011 ที่ระบุว่าชาวอเมริกันถึง 47% มีอาวุธปืนอยู่ในครอบครอง ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 20 ปี และมีเพียง 26% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนมากต้องการถือครองอาวุธเหล่านั้น ทำให้แนวคิดเรื่องการทบทวนกฎหมายควบคุมปืนอาจไม่บรรลุผลสำเร็จ

ประเด็นสิทธิการครอบครองปืนนี้ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสหรัฐฯ ขณะที่ฐานเสียงทางการเมืองจำนวนมากสนับสนุนสิทธิดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่กำลังใกล้จะมาถึง การแตะประเด็นเรื่องอาวุธปืนจึงอาจส่งผลเสียต่อความนิยมทางการเมืองได้ แต่เป็นที่คาดว่า เหตุการณ์ล่าสุดจะกดดันให้คู่แข่งขันชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี อันได้แก่ โอบามา และ มิตต์ รอมนีย์ ต้องเร่งเสนอแนวทางควบคุมอาวุธปืนก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้.
ชาวซิกข์จำนวนหนึ่งรวมตัวกันหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อประท้วงวอชิงตันที่ปล่อยให้โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นกับชาวซิกข์
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น