เอเอฟพี - ในภาพยนตร์เรื่องอาร์มาเกดดอน (Armageddon) บรูซ วิลลิส ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ปกป้องโลกจากอุกกาบาตยักษ์ ทว่าในความเป็นจริง ผลศึกษาของเหล่านักฟิสิกส์พบว่าเรื่องดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ และเป็นแค่เรื่องเฟ้อฝันตามจินตนาการเท่านั้น
เอกสารที่เผยแพร่โดยเหล่านักศึกษาวิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ของอังกฤษ ระบุว่า ระเบิดนิวเคลียร์ของวิลลิสจะส่งผลกระทบต่ออุกกาบาตได้เทียบเท่ากับแค่พลุไฟแท่งหนึ่งเท่านั้น และในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มีการใช้มันเมื่อสายเกินไปแล้ว ดังนั้นยังไงเสียโลกก็จะถึงจุดจบอยู่ดี “ด้วยระดับทางเทคโนโลยีที่มี วิธีการนี้ไม่มีความใกล้เคียงที่จะปกป้องโลกจากอุกกาบาตเลย”
ภาพยนตร์ยอดนิยมที่เข้าฉายเมื่อปี 1998 วิลลิสเล่นเป็นนักขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลที่ถูกนาซาส่งขึ้นไปหยุดยั้งอุกกาบาตขนาดเท่ามลรัฐเทกซัสที่กำลังมุ่งหน้าเข้าชนโลก ทั้งนี้ยานของเขาลงจอดบนอุกกาบาต พร้อมกับฝังระเบิดลงสู่แกนของมัน และเมื่อระเบิดนิวเคลียร์ทำงาน แรงระเบิดก็จะแยกอุกกาบาตออกเป็นสองเสี่ยงและพุ่งผ่านโลกจากทั้งสองฟากฝั่ง
ทีมวิจัยบอกต่อว่า การระเบิดอุกกาบาตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดราวๆ 1,000 กิโลเมตรเหมือนกับในภาพยนตร์ อาจต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพเหนือ Big Ivan ระเบิดนิวเคลียร์แรงที่สุดในโลกของโซเวียตถึง 10 เท่า แต่หากมันใหญ่โตขนาดนี้ก็คงจะมีการตรวจพบอุกกาบาตเร็วกว่าในหนังอย่างมาก
งานวิจัยที่ใช้ชื่อว่า “บรูซ วิลลิส จะปกป้องโลกได้จริงหรือ?” ระบุว่าในภาพยนตร์ระบุว่าโลกเหลือเวลาอีกเพียง 18 วัน ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พระเอกรุ่นเก๋าจะเดินทางไปบนอุกกาบาตและขุดเจาะลงไปยังแกนกลางของมันได้ทันเวลา
ในโลกแห่งความเป็นจริง อุกกาบาตจำเป็นต้องถูกตรวจพบและระเบิดห่างจากโลกมากกว่า 13,000 ล้านกิโลเมตร เพื่อให้อุกกาบาตทั้งสองเสี่ยง มีเวลามากพอที่เบี่ยงเส้นทางและหลุดพ้นจากการพุ่งชนโลก
สมมุติว่าถ้าหากโลกจะต้องประสบวาระสุดท้ายด้วยการถูกอุกกาบาตพุ่งชนในวันที่ 21 ธันวาคม 2012 --อันเป็นวันที่ซึ่งกล่าวกันว่าถูกระบุเอาไว้ในปฏิทินของชาวเผ่ามายา-- นั่นก็หมายความว่าเรายังมีเวลาอีกหลายเดือนสำหรับการใช้วิธีการซึ่งดีกว่าในหนังเรื่องนี้ เพื่อแก้ไขคลี่คลาย
“ทางเลือกอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ทางเลือกหนึ่ง น่าจะเป็นการหาทางเคลื่อนย้ายอุกกาบาตด้วยวิธีใช้พวกอุปกรณ์ตัวขับดันติดเข้ากับอุกกาบาตนี้” เบน ฮอลล์ ผู้ร่วมเขียนรายงานนี้คนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอายุ 22 ปี กล่าวให้ความเห็น
อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่า “เรื่องที่แน่นอนก็คือว่าไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตามที ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจจับอุกกาบาตดังกล่าวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมทั้งต้องอาศัยการวางแผนอย่างรอบคอบระมัดระวังในการกำหนดหนทางแก้ไข