xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นชี้ทัพจีนมีบทเด่นนโยบายต่างประเทศ-ทำเอเชียตะวันออกรู้สึกอันตราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - สมุดปกขาวกลาโหมประจำปีล่าสุดของญี่ปุ่นระบุ กองทัพจีนมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศแดนมังกร ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงของแดนปลาดิบ นอกจากนั้นยังทำให้พวกประเทศในย่านเอเชียตะวันออกต่างกังวลต่อการที่ปักกิ่งดูเหมือนจะกำลังขยายอิทธิพลทางทหารภายในภูมิภาค

ในรายงานสถานการณ์ด้านกลาโหมประจำปี ฉบับล่าสุดซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (31 ก.ค.) โตเกียวระบุว่า มีบางคนเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพปลดแอกประชาชน (พีแอลเอ) กับคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ “กำลังมีความเกี่ยวพันกันมากขึ้น” ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล

รายงานบอกว่า มีความเป็นไปได้ทีเดียวที่ระดับของอิทธิพลของกองทัพจีนซึ่งมีต่อการตัดสินใจทางด้านนโยบายการต่างประเทศนั้น กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ทว่า รายงานก็ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดมากไปกว่านี้

“สถานการณ์เช่นนี้เรียกร้องให้ต้องใส่ใจโดยถือว่าเป็นประเด็นปัญหาทางด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง” สมุดปกขาวฉบับล่าสุดนี้บอก

สมุดปกขาวกลาโหมฉบับนี้นำออกเผยแพร่ในช่วงเวลาที่ทั้งพวกเจ้าหน้าที่อาวุโส, ที่ปรึกษาด้านข่าวกรอง และผู้อำนวยการหน่วยงานทางทะเลของจีน ออกมาเรียกร้องอย่างเปิดเผยมากขึ้น ให้ปักกิ่งใช้ไม้แข็งยิ่งขึ้นในกรณีพิพาทขัดแย้งเรื่องดินแดนกับประเทศอื่นๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับแดนมังกร

ในการกล่าวพาดพิงถึงข้อพิพาทเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการโต้แย้งที่ดำเนินมายาวนานระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออกนั้น มุมมองของโตเกียวในคราวนี้ ก็อยู่ในทำนองเดียวกับรายงานในปี 2011 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงความยินดีต้อนรับการเพิ่มบทบาทของปักกิ่งในเวทีโลก แต่พร้อมกันนั้นก็ตั้งข้อสังเกตถึงความเคลื่อนไหวอย่างก้าวร้าวมากขึ้นของพญามังกร

“จีนรับมือกับประเด็นขัดแย้งต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นและกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในแนวทางซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์ว่าก้าวร้าว และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของจีน”

เช่นเดียวกับรายงานฉบับปี 2011 โตเกียวยังตั้งข้อสังเกตถึงการสร้างสมแสนยานุภาพทางการทหารอย่างรวดเร็วของจีน โดยเฉพาะกองทัพเรือ และเน้นว่างบประมาณกลาโหมของปักกิ่งนั้นเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าตัวในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา

ซาโตชิ โมริโมโตะ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นกล่าวในการแถลงเปิดตัวสมุดปกขาวกลาโหมฉบับนี้ว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออก ต่างรู้สึกกังวลและเฝ้าจับตาทิศทางที่จีนกำลังมุ่งหน้าไป

สำหรับทางฝ่ายจีน เกิง เหยียนเซิง โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนแถลงย้ำว่า การที่จีนปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยนั้น ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและไม่ได้มีเป้าหมายที่ประเทศหนึ่งประเทศใด

กระนั้น เกิงก็วิจารณ์ “คำแถลงที่ไร้ความรับผิดชอบ” ของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นที่ไม่ระบุชื่อ เกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งจีนกับญี่ปุ่นต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่ โดยที่ภาษาจีนเรียกหมู่เกาะนี้ว่า เตี้ยวอี๋ว์ ส่วนภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าเซนกากุ โฆษกจีนผู้นี้ย้ำว่า จีนจะปกป้องสิทธิของตนเอง

“การปกป้องอธิปไตยของประเทศ รวมทั้งสิทธิและผลประโยชน์ทางทะเลเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกองทัพ และเราจะประสานงานกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของเราอย่างใกล้ชิด ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบของเราอย่างจริงจัง”

นอกเหนือจากการโต้แย้งช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนตะวันออกแล้ว ในทะเลจีนใต้ก็เกิดความเครียดขมึงมากขึ้นจากการที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์ในบริเวณดังกล่าวอย่างก้าวร้าวท่ามกลางการคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้าน

ตั้งแต่ปีที่แล้ว เดิมพันในทะเลจีนใต้เพิ่มสูงขึ้นอีกมากมายด้วยซ้ำ เมื่อสหรัฐฯ ประกาศยุทธศาสตร์แห่งการหวนกลับคืนมาให้ความสำคัญแก่เอเชีย รวมทั้งกองทัพอเมริกันก็เบนความสนใจและทุ่มเททรัพยากรมาที่เอเชีย

ในรายงานของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นฉบับนี้ ได้ย้ำความสำคัญในการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ โดยแจงว่าการที่มีกองทหารอเมริกันประจำอยู่ในญี่ปุ่น สามารถที่จะเป็นตัวป้องปรามไม่ให้เกิดกรณีฉุกเฉินในภูมิภาค และยังทำให้หลายประเทศในภูมิภาครู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น

แต่การยืนยันแบบทางการของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นเช่นนี้ ขัดแย้งกับภาพการประท้วงของชาวญี่ปุ่น ซึ่งไม่พอใจแผนการส่งเครื่องบินขับไล่แบบออสเปรย์ที่สามารถขึ้นลงทางดิ่งได้แบบเฮลิคอปเตอร์ มาประจำการที่ฐานทัพเรืออเมริกันในโอกินาวา เพราะกังวลกันว่าจะทำให้สถานการณ์ความปลอดภัยของญี่ปุ่นยิ่งเลวร้ายลง

นอกจากนี้ ในสมุดปกขาวกลาโหมฉบับนี้ซึ่งเป็นฉบับแรกที่จัดทำขึ้นหลังจากคิม จองอึน ขึ้นครองอำนาจในเกาหลีเหนือยังระบุว่า การที่ผู้นำใหม่โสมแดงสานต่อยุทธศาสตร์การเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ ทำให้เปียงยางยังคงเป็นภัยคุกคามรายสำคัญต่อความมั่นคงปลอดภัยของญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น