รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-สื่อต่างประเทศชี้ เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย กำลังสั่นคลอนภาพลักษณ์อันดีด้านการท่องเที่ยวของไทย ทั้งกรณี 2 พี่น้องสาวจากแคว้นควิเบกของแคนาดาเสียชีวิตปริศนาที่จังหวัดกระบี่จากข้อสันนิษฐานว่าอาจได้รับพิษร้ายแรง รวมถึง การที่สตรีวัย 60 ปีชาวออสเตรเลียโดนชิงทรัพย์และถูกแทงจนเสียชีวิตด้านนอกรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พร้อมชี้ ไทยกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพการท่องเที่ยวที่ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด
สื่อต่างประเทศระบุว่า โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า การที่ไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ที่จะปกป้องดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมากเช่นนี้ อาจไม่ต่างอะไรกับการที่ สินทรัพย์อันมีค่ายิ่งของไทย คือมนต์สเน่ห์ด้านการท่องเที่ยว อาจถูกทำลายจนหมดสิ้นในไม่ช้า
ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดจากพวกคนขับรถแท็กซี่ที่ประพฤติตัวไม่ต่างจาก “มาเฟีย” ,พวกหัวขโมย, ปัญหามลพิษ, การทะเลาะวิวาทของนักท่องเที่ยว, อุบัติเหตุบนท้องถนน , ปัญหาผู้ให้บริการเจ็ตสกีข่มขู่คุกคามเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ ทั้งที่นักท่องเที่ยวไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายนั้น รวมถึงปัญหาที่นักท่องเที่ยวต้องพบเจอที่สนามบินของไทย ทั้งการทำงานที่บกพร่องของระบบเรดาร์ การดีเลย์ของเที่ยวบิน และการต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง ต่างเป็นปัญหาที่กำลังส่งผลร้ายต่อการท่องเที่ยวของไทยเช่นกัน แม้ปัญหาเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับนักท่องเที่ยว
รายงานของสื่อต่างประเทศซึ่งอ้างแลร์รีย์ คันนิงแฮม กงสุลกิตติมศักดิ์ของออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ตระบุว่า จนถึงขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ทีเอที) ยังคงคิดแต่เพียงว่า การที่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นนั้น ย่อมจะหมายถึง นักท่องเที่ยวยังคงชื่นชอบประเทศไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไทยกำลังประสบปัญหาด้านคุณภาพการท่องเที่ยวที่ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด
ข้อมูลของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของไทยระบุว่าเมื่อปี 2011 มีนักท่องเที่ยวกว่า 19 ล้านคนเดินทางเข้ามาในประเทศ และสร้างรายได้คิดเป็นวงเงินสูงถึง 24,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 776,000 ล้านบาท)ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มจากปี 2010 ถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวยังมีสัดส่วนกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของไทยเช่นกัน
มุมมองของสื่อต่างประเทศระบุว่า แม้ภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในด้านรายได้และปริมาณนักท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ในขณะนี้ไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากการที่เมียนมาร์ หรือพม่า เพื่อนบ้านของไทยหันมาเปิดประเทศ กลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ จนทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างการเดินทางไปสัมผัสกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ในพม่า หรือ จะเข้ามาสัมผัสกับการท่องเที่ยวที่ด้อยคุณภาพและเต็มไปด้วยปัญหาในไทย
นอกจากนั้น ยังมีการกล่าวถึงจังหวัดภูเก็ต ว่า กำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเผชิญชะตากรรมไม่ต่างจาก “เมืองพัทยา” เมืองตากอากาศชื่อดังทางตะวันออกของกรุงเทพฯ และชะตากรรมที่ว่านี้ คือ การที่ภูเก็ตอาจต้องกลายเป็น “เมืองแห่งบาป” หรือ “เมืองแห่งโลกีย์” เหมือนกับพัทยาในที่สุด หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังมัวให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ปริมาณนักท่องเที่ยว” โดยไม่ใส่ใจ “คุณภาพของนักท่องเที่ยว” อย่างที่เป็นอยู่ และอาจส่งผลให้เป้าหมายของรัฐบาลไทยในยุคของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยว 21 ล้านคนมายังประเทศไทยในปีนี้ อาจไม่ประสบผลสำเร็จ
ในอีกด้านหนึ่ง สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดเป็นอันดับ 2ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เป็นรองเพียงประเทศฮอนดูรัส ในอเมริกากลางเท่านั้น