เอเอฟพี - กระทรวงสาธารณสุขบราซิลแถลงเปิดตัวโครงการเพาะพันธุ์ยุงลายดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไข้เลือดออก เมื่อวานนี้ (9) หลังปีนี้มีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกในบราซิลเกือบ 500,000 คนแล้ว
แต่ละปีจะมีประชากรในเขตร้อนและกึ่งโซนร้อนป่วยเป็นไข้เลือดออกประมาณ 50-100 ล้านคน ซึ่งเชื้อดังกล่าวทำให้เกิดอาการไข้สูง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ และอาจรุนแรงถึงขั้นมีเลือดออกตามผิวหนัง หรือช็อกในที่สุด
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส 4 กลุ่มที่มียุงลายเป็นพาหะ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามคิดหาวิธีควบคุมประชากรยุง
โครงการนำร่องในบราซิลจะเริ่มจากการเพาะพันธุ์ยุงลายเพศผู้ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม ก่อนจะปล่อยออกสู่ธรรมชาติเพื่อให้พวกมันจับคู่กับยุงลายเพศเมีย กระทรวงสาธารณสุขบราซิล ระบุ
“ลูกหลานของพวกมันจะตายตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย ซึ่งจะทำให้ประชากรยุงลดลงได้”
วันเสาร์ที่แล้ว (7) รัฐบาลบราซิลทำพิธีเปิดโรงงานในรัฐบาเยีย ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่เพาะพันธุ์ยุงลายชนิดใหม่ โดยจะสามารถปล่อยยุงออกสู่ธรรมชาติได้ราว 4 ล้านตัวต่อสัปดาห์
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ทดสอบประสิทธิภาพของยุงลายดัดแปลงพันธุกรรมใน 2 เมืองของรัฐบาเยีย ซึ่งแต่ละแห่งมีพลเมืองอาศัยอยู่ราว 3,000 คน
“ด้วยเทคนิคนี้ เราจะสามารถลดประชากรยุงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 6 เดือน” กระทรวงสาธารณสุขแถลง