xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุมโตเกียวระดมทุนพัฒนา $16,000 ล้านช่วย “อัฟกานิสถาน” หลังนาโตถอนทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน, รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน และผู้แทนชาติต่างๆ เดินทางเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ณ กรุงโตเกียว วันนี้(8)
รอยเตอร์ - ชาติผู้บริจาครายใหญ่รับปากจะมอบทุนเพื่อการพัฒนาแก่อัฟกานิสถานจำนวน 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 4 ปีข้างหน้า เพื่อป้องกันมิให้อัฟกานิสถานหวนกลับไปสู่ความระส่ำระสาย หลังจากที่กองกำลังนานาชาติถอนทหารออกไปแล้ว ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลคาบูลเร่งปฏิรูปเพื่อขจัดปัญหาคอรัปชัน

ความอ่อนล้าของชาติผู้บริจาคบวกกับความเหนื่อยหน่ายสงครามที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ประชาคมโลกลังเลที่จะให้การสนับสนุนอัฟกานิสถานต่อไป จนเกรงกันว่า อัฟกานิสถานอาจตกสู่ภาวะไร้เสถียรภาพหลังการจากไปของทหารนาโตในปี 2014 หากปราศจากทุนสนับสนุนด้านความมั่นคง

“ความมั่นคงของอัฟกานิสถานไม่ได้วัดกันที่สงครามสิ้นสุด” ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงต่อที่ประชุมว่าด้วยการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ณ กรุงโตเกียว

“เราจะต้องวัดที่ว่า ชาวอัฟกานิสถานมีงานทำและมีอนาคตทางเศรษฐกิจหรือไม่ พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลจะตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้แค่ไหน และกระบวนการปรองดองเดินไปข้างหน้าและสำเร็จหรือไม่”

ธนาคารกลางอัฟกานิสถาน ประเมินว่า คาบูลจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติปีละอย่างน้อย 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯยังเน้นถึงความจำเป็นที่ประเทศยากจนและโกงกินมากที่สุดแห่งหนึ่งอย่างอัฟกานิสถาน จะต้องแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชันอย่างจริงจัง และปฏิรูประบบบริหารเสียใหม่

“รัฐบาลจะต้องต่อสู้กับปัญหาคอรัปชัน ปรับปรุงการบริหาร บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวอัฟกานิสถานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะสตรี” คลินตัน กล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯยังไม่ระบุตัวเลขเงินบริจาคที่สหรัฐฯจะมอบแก่อัฟกานิสถาน แต่ชี้ว่ารัฐบาลจะเสนอให้สภาคองเกรสคงระดับความช่วยเหลือตามเดิมไว้ จนถึงปี 2017

ผู้แทนธนาคารโลก, ธนาคารพัฒนาเอเชีย, องค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และอีก 80 ประเทศทั่วโลก เดินทางเข้าร่วมประชุมที่กรุงโตเกียวในวันนี้(8) เพื่อหารือถึงอนาคตของอัฟกานิสถานหลังปี 2014

เอกสารสรุปซึ่งทางการญี่ปุ่นแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุม ระบุว่า อัฟกานิสถานได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติราว 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างปี 2001-2010 และแม้ผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อหัวจะเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว แต่อัฟกานิสถานยังคงติด 1 ใน 10 ประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก

แม้กรุงคาบูลจะพยายามกระจายโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขแก่พลเมือง แต่ปัจจุบัน 3 ใน 4 ของชาวอัฟกัน 30 กว่าล้านคนยังคงอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และมีรายได้เฉลี่ยเพียงคนละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (ราว 16,800 บาท) ตามข้อมูลของธนาคารโลก

ระหว่างเดินทางเยือนกรุงคาบูลเมื่อวานนี้(7) คลินตัน ประกาศยกสถานะอัฟกานิสถานเป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯนอกกลุ่มนาโต ซึ่งเป็นสถานะพิเศษที่สหรัฐฯมอบให้แก่พันธมิตรเพียงไม่กี่ชาติ อาทิ อิสราเอลและญี่ปุ่น เป็นต้น และยังเป็นการยืนยันต่อชาวอัฟกันว่า วอชิงตันจะไม่ทอดทิ้งอัฟกานิสถาน แม้สงครามจะยุติลงก็ตาม
เลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มูน กล่าวเปิดการประชุมเพื่อการฟื้นฟูอัฟกานิสถาน ณ กรุงโตเกียว วันนี้(8)
ประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ แห่งอัฟกานิสถาน ยืนสนทนาอยู่กับรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กุยโด เวสเตอร์เวลล์ (ที่ 2 จากขวา) และรัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ เดิร์ก นีเบล (ที่ 3 จากขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น