ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การประชุมสุดยอดองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่เมืองชิคาโก สหรัฐฯ เสร็จสิ้นลงแล้วภายหลังประชุมเป็นเวลา 2 วัน โดยออกแถลงการณ์สำคัญหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป การเพิ่มความเข้มแข็งด้านการทหารให้แก่กองกำลังของนาโต และที่โดดเด่นที่สุดคือ เรื่องกระบวนการถ่ายโอนภารกิจรักษาความมั่นคงในอัฟกานิสถาน ที่มีสงครามยืดเยื้อมานานกว่า 1 ทศวรรษ โดยนับเป็นครั้งแรกที่นาโตระบุวันเวลาถอนทหารของกองกำลังพันธมิตรที่แน่นอน และยังมีการวางแผนส่งมอบอำนาจการดูแลความมั่นคงอย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทว่า ยังมีอุปสรรคมากมายให้ต้องเผชิญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และนโยบายการต่างประเทศของสมาชิก
ในวันจันทร์ (21) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม ผู้นำนาโตจาก 28 ชาติ และพันธมิตรที่ส่งทหารร่วมสงครามอัฟกานิสถานอีก 22 ชาติ เช่น ออสเตรเลีย จอร์เจีย และเกาหลีใต้ ได้ให้สัตยาบันรับรองโรดแมปที่ “ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้” ซึ่งระบุถึงแผนถอนกำลังทหาร 130,000 นายออกจากอัฟกานิสถานอย่างค่อยเป็นค่อยไป และด้วยความรับผิดชอบ ภายในสิ้นปี 2014 โดยจะส่งมอบให้ทางการคาบูลดูแลภารกิจความมั่นคงทั่วประเทศตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป และกองกำลังนานาชาติจะค่อยๆ เปลี่ยนไปมุ่งเน้นการฝึก การให้คำแนะนำ และการสนับสนุน แต่จะยังคงมีส่วนร่วมในปฏิบัติการสู้รบหากจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่า กองกำลังอัฟกันจะสามารถรับมือการก่อกวนของกลุ่มตอลิบานได้
นอกจากนี้ ผู้นำนาโตยังให้ความมั่นใจกับประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถานว่า นานาชาติจะไม่ทอดทิ้งประเทศของเขาหลังจากถอนทหารออกไปแล้ว โดย 50 ชาติที่มีส่วนร่วมในสงครามมีมติรับรองแผนการของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในการจัดหาเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้แก่คาบูลปีละ 4,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งวอชิงตันมีแผนจะรับผิดชอบ 2,300 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ประกาศจะมอบความช่วยเหลือทางการเงิน ได้แก่ เยอรมนี 191 ล้าน อังกฤษ 110 ล้าน และออสเตรเลีย 100 ล้าน โดยคำแถลงพันธมิตรนาโตระบุว่า รัฐบาลอัฟกันจะต้องร่วมรับผิดชอบเงินก้อนนี้ด้วย โดยเริ่มต้นจาก 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 และรับผิดชอบทั้งหมดไม่เกินปี 2024
ขณะที่ฝรั่งเศส ซึ่งนำโดยฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรคโซเชียลลิสต์ ยืนยันจะถอนทหาร 3,400 นายออกจากอัฟกานิสถานปลายปีนี้ หรือก่อนกำหนดเดิม 1 ปี ตามที่เขาเคยให้สัญญากับประชาชนไว้ระหว่างหาเสียง โดยให้เหตุผลว่า ทหารฝรั่งเศส “ทำเกินหน้าที่” แล้วนับจากเข้าร่วมการบุกโค่นล้มผู้นำตอลิบานที่นำโดยสหรัฐฯ ในปี 2001 นอกจากนี้ ผู้นำแดนน้ำหอมยังมีท่าทีลังเลที่จะอุดหนุนเงินให้กองกำลังอัฟกันเพิ่ม ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ว่าพันธมิตรอื่นๆ อาจดำเนินรอยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนิวซีแลนด์ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า จะถอนทหาร 140 นายกลับในปีหน้า หรือก่อนกำหนด 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อสงสัยกันว่า หลังการถอนทัพของกองกำลังนานาชาติในปี 2014 เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถานจะสามารถต้านทานการโจมตีของตอลิบานได้หรือไม่ ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านการทูตต่างเชื่อว่า ภาระหนักทั้งหลายคงจะตกเป็นของยูเอ็น ที่ต้องรับหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะเมื่ออัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีการผลิตยาเสพติดจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน ทั้งยังภาวะการว่างงานสูง ล้วนแล้วแต่จะยิ่งนำพาประเทศที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว ให้กลับไปเป็นรัฐที่ล้มเหลวได้อีกครั้ง
นอกจากประเด็นทางการทหารแล้ว ความช่วยเหลือทางการเงินในการสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาลใหม่ ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจต้องใช้เงินในจำนวนมากพอๆ กัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนพลเรือนชาวอัฟกัน ผู้ตกเป็นเหยื่อของสงคราม ต้องไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากบ้านของตัวเองกลายไปเป็นสนามสู้รบ โดยในปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยภายในประเทศสูงขึ้นเกือบ 500,000 คน สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่าเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ซ่อนอยู่อย่างน่าตกใจ ขณะที่อีกกว่า 30,000 รายก็หนีภัยสงครามออกนอกประเทศ ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน ในจำนวนคนเหล่านี้กำลังรู้สึกว่าพวกเขาถูกลืม และไม่ได้รับการอนุเคราะห์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางด้านอาหาร ทำให้หน่วยงานด้านความช่วยเหลือหลายแห่งในอัฟกานิสถานรู้สึกว่า การถอนทัพนาโตนั้นเร่งรีบเกินไป
ด้าน แจน คูบิส หัวหน้าภารกิจให้ความช่วยเหลือในอัฟกานิสถานของยูเอ็น (UNAMA) ชี้ว่า ความมั่นคง และความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกลุ่มตอลิบานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสันติภาพในอนาคต ดังนั้น นาโตจึงควรสร้างเงื่อนไขที่ทำให้อัฟกานิสถานสามารถรักษาระดับความมั่นคง และเสถียรภาพสำหรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการโจมตีใดๆ เกิดขึ้นอีก หรืออัฟกานิสถานจะเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพโดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยการสนับสนุนอย่างถูกต้องของนานาชาติจะช่วยให้อัฟกานิสถาน
มีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายต้องการได้หลังปี 2014 ไป
ในวันจันทร์ (21) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม ผู้นำนาโตจาก 28 ชาติ และพันธมิตรที่ส่งทหารร่วมสงครามอัฟกานิสถานอีก 22 ชาติ เช่น ออสเตรเลีย จอร์เจีย และเกาหลีใต้ ได้ให้สัตยาบันรับรองโรดแมปที่ “ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้” ซึ่งระบุถึงแผนถอนกำลังทหาร 130,000 นายออกจากอัฟกานิสถานอย่างค่อยเป็นค่อยไป และด้วยความรับผิดชอบ ภายในสิ้นปี 2014 โดยจะส่งมอบให้ทางการคาบูลดูแลภารกิจความมั่นคงทั่วประเทศตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป และกองกำลังนานาชาติจะค่อยๆ เปลี่ยนไปมุ่งเน้นการฝึก การให้คำแนะนำ และการสนับสนุน แต่จะยังคงมีส่วนร่วมในปฏิบัติการสู้รบหากจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่า กองกำลังอัฟกันจะสามารถรับมือการก่อกวนของกลุ่มตอลิบานได้
นอกจากนี้ ผู้นำนาโตยังให้ความมั่นใจกับประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถานว่า นานาชาติจะไม่ทอดทิ้งประเทศของเขาหลังจากถอนทหารออกไปแล้ว โดย 50 ชาติที่มีส่วนร่วมในสงครามมีมติรับรองแผนการของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ในการจัดหาเงินช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้แก่คาบูลปีละ 4,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งวอชิงตันมีแผนจะรับผิดชอบ 2,300 ล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ประกาศจะมอบความช่วยเหลือทางการเงิน ได้แก่ เยอรมนี 191 ล้าน อังกฤษ 110 ล้าน และออสเตรเลีย 100 ล้าน โดยคำแถลงพันธมิตรนาโตระบุว่า รัฐบาลอัฟกันจะต้องร่วมรับผิดชอบเงินก้อนนี้ด้วย โดยเริ่มต้นจาก 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 และรับผิดชอบทั้งหมดไม่เกินปี 2024
ขณะที่ฝรั่งเศส ซึ่งนำโดยฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรคโซเชียลลิสต์ ยืนยันจะถอนทหาร 3,400 นายออกจากอัฟกานิสถานปลายปีนี้ หรือก่อนกำหนดเดิม 1 ปี ตามที่เขาเคยให้สัญญากับประชาชนไว้ระหว่างหาเสียง โดยให้เหตุผลว่า ทหารฝรั่งเศส “ทำเกินหน้าที่” แล้วนับจากเข้าร่วมการบุกโค่นล้มผู้นำตอลิบานที่นำโดยสหรัฐฯ ในปี 2001 นอกจากนี้ ผู้นำแดนน้ำหอมยังมีท่าทีลังเลที่จะอุดหนุนเงินให้กองกำลังอัฟกันเพิ่ม ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่ว่าพันธมิตรอื่นๆ อาจดำเนินรอยตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนิวซีแลนด์ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า จะถอนทหาร 140 นายกลับในปีหน้า หรือก่อนกำหนด 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อสงสัยกันว่า หลังการถอนทัพของกองกำลังนานาชาติในปี 2014 เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถานจะสามารถต้านทานการโจมตีของตอลิบานได้หรือไม่ ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านการทูตต่างเชื่อว่า ภาระหนักทั้งหลายคงจะตกเป็นของยูเอ็น ที่ต้องรับหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงภายในประเทศดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะเมื่ออัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีการผลิตยาเสพติดจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน ทั้งยังภาวะการว่างงานสูง ล้วนแล้วแต่จะยิ่งนำพาประเทศที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว ให้กลับไปเป็นรัฐที่ล้มเหลวได้อีกครั้ง
นอกจากประเด็นทางการทหารแล้ว ความช่วยเหลือทางการเงินในการสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาลใหม่ ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจต้องใช้เงินในจำนวนมากพอๆ กัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนพลเรือนชาวอัฟกัน ผู้ตกเป็นเหยื่อของสงคราม ต้องไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากบ้านของตัวเองกลายไปเป็นสนามสู้รบ โดยในปีที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ลี้ภัยภายในประเทศสูงขึ้นเกือบ 500,000 คน สูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งองค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่าเป็นวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ซ่อนอยู่อย่างน่าตกใจ ขณะที่อีกกว่า 30,000 รายก็หนีภัยสงครามออกนอกประเทศ ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน ในจำนวนคนเหล่านี้กำลังรู้สึกว่าพวกเขาถูกลืม และไม่ได้รับการอนุเคราะห์อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะทางด้านอาหาร ทำให้หน่วยงานด้านความช่วยเหลือหลายแห่งในอัฟกานิสถานรู้สึกว่า การถอนทัพนาโตนั้นเร่งรีบเกินไป
ด้าน แจน คูบิส หัวหน้าภารกิจให้ความช่วยเหลือในอัฟกานิสถานของยูเอ็น (UNAMA) ชี้ว่า ความมั่นคง และความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับกลุ่มตอลิบานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสันติภาพในอนาคต ดังนั้น นาโตจึงควรสร้างเงื่อนไขที่ทำให้อัฟกานิสถานสามารถรักษาระดับความมั่นคง และเสถียรภาพสำหรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการโจมตีใดๆ เกิดขึ้นอีก หรืออัฟกานิสถานจะเปลี่ยนไปเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพโดยสมบูรณ์ แต่อย่างน้อยการสนับสนุนอย่างถูกต้องของนานาชาติจะช่วยให้อัฟกานิสถาน
มีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายต้องการได้หลังปี 2014 ไป