เทเลกราฟ - ผลการศึกษาพบผู้หญิงที่เลี้ยงแมวมีแนวโน้มป่วยทางจิต และฆ่าตัวตายมากกว่าสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ เนื่องจากพวกเธออาจติดเชื้อปรสิตที่สามารถควบคุมจิตใจ ซึ่งมากับมูลของเจ้าเหมียวเหล่านั้น
การศึกษาที่นำโดย นพ.ธีโอดอร์ พอสโตลัช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวช ณ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ในสหรัฐฯ พบว่า หญิงสาว ที่ติดเชื้อปรสิต “ท็อกโซพลาสมา กอนดี” มีแนวโน้มพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 1.5 เท่า และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อระดับแอนติบอดี้ของเชื้อดังกล่าวสูง
เชื้อท็อกโซพลาสมา กอนดี หรือที. กอนดี เจริญเติบโตในระบบย่อยอาหารของแมว โดยมนุษย์สามารถติดเชื้อผ่านการสัมผัสอุจจาระแมว หรือรับประทานเนื้อที่ปรุงไม่สุก หรือผักที่ไม่ได้ล้าง ฯลฯ ขณะที่สัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดก็สามารถติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลกติดเชื้อปรสิตดังกล่าว ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในเซลล์สมอง และกล้ามเนื้อ โดยมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่การติดเชื้อท็อกโซพลาสโมจะนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น โรคจิตเภท และพฤติกรรมเปลี่ยนไป
“เราไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า เชื้อ ที.กอนดี เป็นสาเหตุให้ผู้หญิงพยายามฆ่าตัวตายหรือไม่ แต่เราพบความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อ และความพยายามในการฆ่าตัวตายในภายหลัง ซึ่งสมควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” พอสโตลัชกล่าว โดยเสริมว่าเขาจะวิจัยถึงความเป็นไปได้ของความเกี่ยวโยงข้อนี้
ด้าน ดร.อัลเบิร์ต รีซ รองประธานกิจการด้านการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมริแลนด์กล่าวว่า การติดเชื้อที. กอนดีเป็นปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพทั่วโลก และหลายคนก็ไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ขณะที่จำนวนคนฆ่าตัวตาย และพยายามฆ่าตัวตายในแต่ละปีมีเป็นจำนวนมาก งานวิจัยชิ้นนี้จึงอาจช่วยรักษาชีวิตคนได้อีกมาก
ทีมวิจัยของ ดร.พอสโตลัชรายงานความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อปรสิตนี้กับพฤติกรรมการฆ่าตัวตายครั้งแรกในปี 2009 เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากเดนมาร์ก เยอรมนี และสวีเดน เพื่อยืนยัน และสืบหากลไกที่นำไปสู่ความเชื่อมโยงดังกล่าว