เอเอฟพี - ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ออกมาเตือนกลุ่มอิสลามิสต์ทางตอนเหนือของมาลี ซึ่งทำลายสุสานโบราณในเขตโบราณสถานทิมบุคตูไปอีก 4 แห่งเมื่อวานนี้(1)ว่า การกระทำอุกอาจของพวกเขากำลังเข้าข่ายก่ออาชญากรรมสงคราม
กลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรง อันซาร์ดีน ซึ่งยึดครองมรดกโลกทิมบุคตูและพื้นที่ตอนเหนือของมาลีตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา มองว่าสถูปเหล่านี้เป็นการบูชารูปเคารพซึ่งขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และได้ทำลายสุสานไปแล้วถึง 7 แห่งในเวลาเพียง 2 วัน
รัฐบาลมาลีและประชาคมโลกต่างตกตะลึงและโกรธแค้นการบุกทำลายมรดกทางวัฒนธรรมในนครโบราณแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นชุมทางในทะเลทราย และศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ได้สมญานามว่า “นครแห่งนักบุญ 333 องค์”
ฟาตู เบนซูดา หัวหน้าอัยการจากไอซีซี ให้สัมภาษณ์ที่กรุงดาการ์ว่า “ดิฉันขอบอกผู้ที่กระทำการเหล่านี้อย่างชัดเจนว่า จงหยุดทำลายศาสนสถานเหล่านั้นทันที”
“นี่ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม ซึ่งหน่วยงานของดิฉันมีสิทธิ์เข้าไปตรวจสอบอย่างเต็มที่”
เบนซูดาระบุว่า มาลีเป็นหนึ่งในภาคีธรรมนูญกรุงโรมซึ่งก่อตั้งไอซีซีขึ้น โดยมีระบุไว้ในมาตรา 8 ว่า การจงใจทำลายอาคารบ้านเรือนที่ไม่มีเกราะคุ้มกัน และไม่ได้เป็นเป้าหมายทางทหาร ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
“กฎข้อนี้ยังหมายรวมถึงการโจมตีอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ และศาสนสถานทุกประเภทด้วย”
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30) กลุ่มอิสลามิสต์ได้ทำลายสุสานนักบุญซิดีมะห์มูด, นักบุญซิดีม็อกตาร์ และนักบุญอัลฟาโมยา จากนั้นในวันอาทิตย์ (1) ยังได้ทำลายสุสานอีก 4 แห่ง รวมถึงสุสานของชัยค์ เอล-เกบีร์ ในขณะที่ชาวบ้านได้แต่ยืนมองโดยไม่สามารถเข้าไปขัดขวางได้
ชาวบ้านในเมืองทิมบุคตูคนหนึ่งเผยว่า อิสลามิสต์ยังขู่จะทำลายมัสยิดโบราณอีกด้วย
“เช้าวันนี้ (1 ก.ค.) พวกอิสลามิสต์บอกเราว่า ถ้าในมัสยิดมีหลุมฝังศพนักบุญอยู่ พวกเขาก็จะทำลายมัสยิดนั้นเสีย”
ข้อมูลบนเว็บไซต์องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ระบุว่า ร่างของนักบุญหลายองค์ถูกฝังไว้ภายในมัสยิดโบราณ 3 แห่ง นอกจานี้ ทิมบุคตูยังเป็นที่ตั้งของสุสานเก่าแก่อีก 16 แห่งด้วย
มาร์ติน เนเซอร์กี โฆษกประจำตัวเลขาธิการสหประชาชาติ อ้างคำพูดของบัน คี มูน ว่า “การทำลายมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง” พร้อมเสริมว่า เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงความรับผิดชอบ เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของมาลีเอาไว้
สิ่งที่เกิดขึ้นกับทิมบุคตูไม่ต่างจากการระเบิดพระพุทธรูปขนาดใหญ่แห่งหุบเขาบามิยันในอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2001 หลังรัฐบาลตอลิบานตัดสินว่าพระพุทธรูปซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกโลกบนเส้นทางสายไหม ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม