เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - บรรดาผู้นำชาติสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมหารือถึงความเป็นไปได้ในการ “ให้อำนาจ” แก่องค์กรของตนในการเข้าไปแก้ไขและจัดการเกี่ยวกับงบประมาณของประเทศสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการเงินการคลังของอียูในอนาคต โดยคาดว่าจะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาหารือกันระหว่างการประชุมสุดยอด “อียูซัมมิต” ที่กรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียมในช่วงปลายสัปดาห์นี้
รายงานซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ในวันนี้ (26) โดยหนังสือพิมพ์ “ไฟแนนเชียลไทมส์” ระบุว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จะกลายเป็นองค์กรที่สามารถเข้าไปจัดทำงบประมาณของประเทศสมาชิกขึ้นใหม่ได้ และคำแนะนำใดๆ เกี่ยวกับปัญหาด้านงบประมาณของประเทศนั้นๆ จะต้องถูกนำไปพิจารณาและลงมติในประเทศสมาชิกอียูที่เหลือ
มีการเปิดเผยว่า บุคคลสำคัญผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจัดทำร่างแผนการดังกล่าวมีด้วยกันถึง 4 ราย ประกอบด้วย นายเฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสภายุโรปชาวเบลเยียม, นายโชเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปจากโปรตุเกส, นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จากอิตาลี รวมถึงนายฌอง โคลด ยุงเกอร์ ประธานที่ประชุมรัฐมนตรีคลังยูโรโซน (ยูโรกรุ๊ป) จากลักเซมเบิร์ก
ข้อมูลจากไฟแนนเชียลไทมส์ระบุว่า คีย์แมนคนสำคัญทั้ง 4 ยังเตรียมเรียกร้องให้มีความร่วมมือในระดับที่ลึกขึ้นในลักษณะของสหภาพด้านการเงินการคลังแห่งยุโรป และจะมีการเสนอให้อียูสามารถเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมด้านงบประมาณให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่านายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนีในฐานะพี่ใหญ่ทางเศรษฐกิจของยุโรปจะเห็นชอบกับมาตรการเหล่านี้
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำฝรั่งเศส ซึ่งมีกำหนดจะเข้าหารือเป็นการส่วนตัวกับนางแมร์เคิลในวันพุธ (27) นี้ เพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันของเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด 2 ลำดับแรกของยุโรป ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดของอียูที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ระหว่าง 28-29 มิถุนายนนี้