xs
xsm
sm
md
lg

“ปูติน” เยือนปักกิ่งนัดหารือ “หูจิ่นเทา” กระชับสัมพันธ์แนวร่วมปกป้องซีเรีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี หู จิ่นเทา ของจีน (ขวา) กับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สัมผัสมือกันในระหว่างพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสอง ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (5)
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางถึงกรุงปักกิ่งแล้วเมื่อวันอังคาร (5) เพื่อกระชับสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจที่กำลังร่วมกันปกป้องซีเรียจากการโจมตีของฝ่ายตะวันตก โดยวาระการหารือสำคัญของทริปนี้คือนโยบายด้านพลังงานและการต่างประเทศ นอกจากนั้น ผู้นำเครมลินยังมีกำหนดร่วมซัมมิตแห่งภูมิภาค ตลอดจนพบกับประธานาธิบดีอิหร่าน และอัฟกานิสถาน

การเยือนจีนเป็นเวลา 3 วันของปูติน ซึ่งถือเป็นการเดินทางในเอเชียครั้งแรกนับจากที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 3 เมื่อเดือนที่แล้วนั้น มีขึ้นหลังจากผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ไม่สามารถเกลี้ยกล่อมปูตินในประเด็นซีเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรของหมีขาวมาตั้งแต่ยุคโซเวียตและจวบจนปัจจุบันรัสเซียก็ยังคงจัดหาอาวุธให้

ปักกิ่งและมอสโกกอดคอกันเหนียวแน่นในประเด็นซีเรีย ท่ามกลางความไม่พอใจของชาติอาหรับและตะวันตก วันจันทร์ที่ผ่านมา (4) เฮอร์แมน ฟาน รอมปุย ประธานอียู บอกกับปูตินว่า บรรดามหาอำนาจโลกจำเป็นที่จะต้อง “แสวงหาแนวคิดร่วมกันที่พวกเราสามารถเห็นพ้องต้องกันได้”

ด้าน ปูติน ผู้เคยเผชิญหน้ากับตะวันตกครั้งแล้วครั้งเล่าระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซีย 2 สมัยก่อน ในช่วงปี 2000-2008 กล่าวตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จุดยืนของมอสโกกับบรัสเซลส์ไม่ได้สอดคล้องต้องกันในทุกเรื่อง

เห็นได้ชัดว่าปูตินกระตือรือร้นที่จะใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับจีนที่แม้มีการปีนเกลียวกันเป็นระยะ แต่กระชับมั่นคงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วจากการที่ทั้งคู่ร่วมกันวีโต้ญัตติตอบโต้ซีเรียที่ผลักดันโดยฝ่ายตะวันตกและโลกอาหรับในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

แม้ทั้งสองชาติมีความขัดแย้งด้านพรมแดนกันเป็นครั้งคราว และต่างฝ่ายต่างเคลือบแคลงกันหนักในยุคโซเวียต แต่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ประกาศเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มอสโกเป็นพันธมิตรที่ดีของปักกิ่งในด้านนโยบายการต่างประเทศในทุกระดับ

เช่นเดียวกัน ไชน่า เดลี่ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลจีน ป่าวประกาศผ่านบทบรรณาธิการฉบับวันอังคารว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศแน่นแฟ้นและมีแนวโน้มดียิ่งขึ้นในอนาคต

“ในช่วงเวลาที่เอเชียตะวันออกและแอฟริกาเหนือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ปักกิ่งและมอสโกยืนหยัดคู่กันเพื่อปกปักษ์หลักการของกฎบัตรยูเอ็นและบรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

ทั้งนี้ ผู้นำแดนหมีขาวที่บินสู่ปักกิ่งหลังจากยกเลิกการเยือนสหรัฐฯ เพียงไม่กี่สัปดาห์ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีหูจิ่นเทาช่วงเย็นวันอังคาร โดยที่ทั้งสองให้คำมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือกันในสหประชาชาติและเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ

หูระบุว่า ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นนี้ จะทำให้สองประเทศสามารถที่จะ “กำหนดระเบียบการเมืองของโลกและระเบียบเศรษฐกิจของโลก ในทิศทางที่มีความยุติธรรมยิ่งขึ้นและมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น”

ขณะที่ ปูติน ก็บอกกับผู้สื่อข่าวในทำนองเดียวกันว่า รัสเซียกับจีนจะเพิ่มความร่วมมือกันในกรอบขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูเอ็น, จี-20, กลุ่มบริกส์ (BRICS), หรือองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (SCO)

นอกจากนี้ ปูตินยังมีกำหนดเข้าพบรองนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตลอดจนรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ว่าที่ประธานาธิบดีคนต่อไปของจีน

คณะผู้แทนของรัสเซียในครั้งนี้ประกอบด้วยสมาชิกในคณะรัฐมนตรี 6 คน ประธานบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในประเทศ ได้แก่ กาซพรอม, รอสเนฟ และทรานส์เนฟ ตลอดจนบุคคลสำคัญในวงการธุรกิจรัสเซียทั้งหมด

นอกจากนั้น ในวันอังคารทั้งสองประเทศยังลงนามในข้อตกลงทางการทูตและทางธุรกิจรวม 12 ฉบับ ที่จะช่วยสนับสนุนการค้าที่กำลังเติบโตและมีมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งกำลังพยายามทำข้อสรุปขั้นสุดท้ายในข้อตกลงก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนร่วมกันมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่กองทุนรัสเซีย และกองทุนความมั่นคงแห่งรัฐของจีนจะร่วมลงขันฝ่ายละ 1,000 ล้านดอลลาร์ แล้วพวกนักลงทุนชาวจีนจะลงในส่วนที่เหลือ

อย่างไรก็ดี กาซพรอมเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า แม้พลังงานเป็นวาระสำคัญในการหารือ ทว่า จะยังไม่มีการลงนามข้อตกลงส่งก๊าซ 70 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีโดยตรงจากรัสเซียไปยังจีน เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงราคากันได้

ปูตินนั้นเป็นอาคันตุกะขาประจำของผู้นำจีน ทริปสู่ปักกิ่งครั้งล่าสุดคือเดือนตุลาคมปีที่แล้วระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นทริปเดียวภายหลังการประกาศแผนลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนกันยายน

หนึ่งเดือนหลังเดินทางสู่ปักกิ่ง ปูตินได้รับรางวัลจากจีนเทียบเท่ารางวัลโนเบลสำหรับ “การรักษาสันติภาพโลก”
กำลังโหลดความคิดเห็น