xs
xsm
sm
md
lg

ถ้า‘อินเดีย’จับมือเป็นหุ้นส่วนกับ‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: ริตฟ์วิจ ปาร์ริค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India and China can do the unthinkable
By Ritvvij Parrikh
19/04/2012

อินเดียสามารถที่จะจับมือร่วมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกันใหม่กับจีน โดยการเสนอเส้นทางขนส่งทางทะเลที่เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งให้แก่สินค้าจีน เรื่องเช่นนี้จะเกิดขึ้นมาได้ จำเป็นที่นิวเดลีต้องกล้าทำในสิ่งที่ดูเหลือเชื่อ และหยุดพักความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับเรื่องพรมแดนที่พิพาทกันอยู่เอาไว้ก่อน แต่ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ทั้งสองประเทศนั้น จะได้กันเป็นกอบเป็นกำทีเดียว

เส้นทางการค้าทางทะเลของจีนจากตะวันออกกลางมายังบรรดาเมืองท่าของแดนมังกรในทะเลจีนใต้ ต้องผ่านจุดที่ตีบตันเป็นคอขวดหลายต่อหลายแห่ง โดยแห่งที่สำคัญที่สุดย่อมต้องเป็นช่องแคบมะละกา ในเวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา จุดคอขวดเหล่านี้แหละคือจุดที่พวกน้ำมันดิบและสินแร่เหล็กอันจำเป็นสำหรับการหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตต่อไป จะถูกตัดถูกปิดกั้นขัดขวาง

ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจของโลกที่เฉลียวฉลาดมีวิจารณญาณ จีนเองก็กำลังพยายามที่จะลดทอนความเสี่ยงดังกล่าวเหล่านี้ ประการแรกทีเดียว แดนมังกรกำลังลงทุนในท่าเรือแห่งแล้วแห่งเล่าซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ตามจุดต่างๆ ตลอดทั่วทั้งมหาสมุทรอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นในสาธารณรัฐเซเชลส์, ปากีสถาน, มัลดีฟส์, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, หรือพม่า นอกจากนั้นจีนยังกำลังลงทุนในเรื่องโครงข่ายถนน, ทางรถไฟ, และเป็นไปได้ว่ารวมถึงสายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จากปากีสถาน, บังกลาเทศ, และพม่า

สิ่งที่พวกประเทศผู้ทำความตกลงกับแดนมังกรเหล่านี้ได้รับ ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ปรับปรุงยกระดับดีขึ้น, การลงทุนจากต่างประเทศ, และโอกาสที่จะได้รับค่าธรรมเนียมผ่านแดนจากจีน ขณะเดียวกัน สิ่งที่จีนได้รับตอบแทนนั้น ก็คือการที่แดนมังกรสามารถสร้างเส้นทางการค้าที่เป็นทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากเส้นทางเดิมๆ ขึ้นมา ตลอดจนการที่สินค้าจีนได้เข้าสู่ตลาดแห่งใหม่ๆ มันเป็นข้อตกลงแบบได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย (win-win deal) สำหรับทุกๆ ประเทศในภูมิภาคแถบนี้ – จะมียกเว้นก็คืออินเดียเท่านั้น

อินเดียมองการลงทุนของจีนเหล่านี้ด้วยความระแวงสงสัย และเห็นว่าเป็นความพยายามของแดนมังกรที่จะตั้งวงปิดล้อมตน ดังนั้นอินเดียจึงทำการตอบโต้ด้วยการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหม, จัดตั้งหน่วยทหารกองกำลังอาวุธใหม่ๆ ขึ้นตามพื้นที่ซึ่งประชิดติดชายแดนจีน, ลงทุนในด้านเรือดำน้ำนิวเคลียร์, และเพิ่มทวีความเกรียงไกรทางนาวีของตน

เวลานี้จีนกำลังขยายโครงข่ายทางรถไฟของตนเองลึกเข้าไปในเขตปกครองตนเองทิเบต โดยกำลังก่อสร้างทางรถไฟความยาว 770 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อเมืองลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบต กับประเทศเนปาล แล้วยังมีแผนการที่จะขยายเส้นทางนี้ต่อไปจนกระทั่งถึง นาธูลา (Nathu La) อันเป็นช่องทางข้ามเทือกเขาซึ่งเชื่อมระหว่างทิเบตกับอินเดีย จากการลงทุนเหล่านี้จะเปิดทางให้จีนสามารถที่จะทุ่มกำลังทหารเข้าไปในทิเบตเพื่อปราบปรามความไม่สงบได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นว่า เศรษฐกิจของอินเดียต้องเผชิญทั้งภาวะอัมพาตทางนโยบาย, อัตราเงินเฟ้อที่ขึ้นสูงอย่างดื้อรั้น, ยอดหนี้สินภาคสาธารณะก้อนมหึมา, และการขาดดุลงบประมาณ อินเดียกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (foreign direct investment หรือ FDI) ให้เข้ามายังแดนภารตะ ตอนแรกทีเดียว รัฐบาลอินเดียพยายามที่ชักชวนดึงดูด FDI ด้วยวิธีเปิดภาคค้าปลีกให้แบรนด์นอกต่างๆ เข้ามาลงทุน แต่ปรากฏว่านโยบายนี้ได้ถูกพวกพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตรของรัฐบาลเองคัดค้านหนักจนกระทั่งต้องตกไป

ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย เดินทางไปเยือนเกาหลีใต้เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความมั่นคงทางนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาได้ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อชักชวนให้เกาหลีไปลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย ต่อมา ณ การประชุมสุดยอดของกลุ่มบริกส์ (BRICS นั่นคือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้ ที่เป็น 5 ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่รายใหญ่ของโลก) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงนิวเดลี เขาก็ได้พยายามทำอย่างเดียวกัน โดยคราวนี้เป็นการเกี้ยวพา เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนที่กำลังใกล้จะพ้นตำแหน่งอยู่แล้ว ครั้นมาถึงตอนนี้ รัฐบาลแดนภารตะยังกำลังวางแผนการที่จะเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมสายการบินได้ในสัดส่วนสูงถึง 49%

ในสภาพภูมิหลังของความสัมพันธ์ทางพรมแดนอันตึงเครียด แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างตลาดของพวกเขา ทำให้เราต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า อินเดียกับจีนต้องการเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกันดำเนินไปอย่างไรในช่วงเวลาหลายๆ ปีข้างหน้านี้ จีนต้องการเห็นอินเดียจับมือเข้าร่วมกับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, และออสเตรเลีย หรือไม่? หรืออินเดียต้องการเห็นจีนคอยสกัดทำให้ตนต้องกบดานอยู่แต่ในอนุทวีปอินเดียต่อไปใช่ไหม? อินเดียจะต้องกล้าคิดออกนอกกรอบ และแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้ และบางทีอาจจะต้องตัดสินใจทำสิ่งที่ดูเหลือเชื่อ ทำนองเดียวกับที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯเคยกระทำด้วยการเดินทางไปเยือนจีนในปี 1972

เมื่อพิจารณาจากสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้แล้ว นิวเดลีจำเป็นที่จะต้องเป็นฝ่ายรุกยื่นข้อเสนอต่อปักกิ่ง ว่าจะเปิดเส้นทางขนส่งผ่านแดนที่มีความมั่นคงปลอดภัยให้แก่แดนมังกร เรือรบของกองทัพเรืออินเดียจะพิทักษ์คุ้มครองและรับประกันให้เรือสินค้าต่างๆ ของจีนสามารถเดินทางเข้าสู่ท่าเรืออินเดียสักแห่งหนึ่งได้อย่างปลอดภัย ท่าเรือดังกล่าวนี้อาจจะเป็นท่าเรือในรัฐกรณาฏกะ, คุชราต, หรือ เบงกอลตะวันตก ก็ได้ จากที่นั่น สินค้าเหล่านี้สามารถขนส่งไปตามเส้นทางรถไฟซึ่งมุ่งใช้ในภารกิจนี้โดยเฉพาะ เพื่อเข้าสู่แผ่นดินใหญ่จีน ทั้งนี้โดยอาจจะผ่านไปทางช่องเขานาทูลา ในรัฐสิกขิม หรือผ่านเนปาล หรือออกจากรัฐชัมมูและแคชเมียร์, มุ่งหน้าไปยัง กิลกิต บัลติสถาน (Gilgit Baltistan) และสุดท้ายก็ตัดผ่านเทือกเขาคาราโครัม (Karakoram)

เส้นทางที่ให้สินค้าจีนผ่านแดนอินเดียเช่นนี้ จะสามารถช่วยอินเดียและจีนได้อย่างไรบ้าง? เรื่องนี้คือสถานการณ์ที่มีแต่จะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย จีนจะได้เส้นทางขนส่งทางเลือก ซึ่งตัดผ่านประเทศที่มีเสถียรภาพมากว่าและเคารพตัวบทกฎหมายมากกว่าอย่างอินเดีย แทนที่จะต้องผ่านปากีสถาน หรือพม่า ส่วนทางอินเดียก็จะได้รับเงินลงทุนของจีนในภาคโครงสร้างพื้นฐานในทันที และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทั้งสองประเทศจะได้ลงนามกันในข้อตกลงร่วมมือกันซึ่งมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์

แล้วเรื่องนี้จะส่งผลกระทบกระเทือนความมั่นคงของอินเดียอย่างไร ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งเกิดการสู้รบกันระหว่างประเทศทั้งสองในอนาคตข้างหน้า? สำหรับอินเดียแล้ว การที่จะปกปักรักษาดินแดนของตนในบรรดารัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างประสบความสำเร็จนั้น อินเดียจำเป็นที่จะต้องลงทุนในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้อาจจะไม่ต้องถึงกับลงทุนให้ทัดเทียมกับการลงทุนของจีนก็ตามที โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นแล้ว มีแต่จะทำให้ภาวะความมั่นคงของอินเดียกระเตื้องดียิ่งขึ้น

**ข้อเขียนนี้ เผยแพร่อยู่ในส่วน “Speaking Freely” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเปิดให้นักเขียนภายนอกส่งทัศนะความเห็นของพวกเขามาให้พิจารณา ข้อเขียนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางบรรณาธิการทัดเทียมกับงานเขียนของผู้ที่เขียนให้เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ**

ริตฟ์วิจ ปาร์ริค เป็นผู้ประกอบการในกิจการด้านสังคม ซึ่งพำนักอยู่ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย และเป็นผู้ที่มีความใฝ่ใจศึกษาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ ritvij.j@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น