เอเอฟพี - ชัยชนะอย่างเหนียวแน่นมั่นคงของของพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งซ่อมในวันเสาร์ (26) ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าพรรครัฐบาลสิงคโปร์ยังต้องทำการบ้านอีกมากในการเรียกคะแนนคืนหลังพ่ายแพ้รุนแรงที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปปีที่แล้ว โดยที่นักวิชาการเตือนว่า ลำพังการเน้นผลงานการสร้างเศรษฐกิจอย่างที่ใช้หากินเรื่อยมานั้นคงไม่เพียงพออีกแล้ว
พรรคพีเพิล แอ็กชัน ปาร์ตี้ (พีเอพี) ที่บริหารรัฐนาวาสิงคโปร์นับจากปี 1959 อยู่ในอาการช็อกอย่างแรงเมื่อพรรคฝ่ายค้านได้ชัยชนะอย่างไม่เคยทำได้มาก่อนในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จึงเร่งออกมาตรการปฏิรูปมาแก้เกมมากมาย
พีเอพีมีโอกาสกู้ชื่อในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันเสาร์ ในเขตฮูกัง อันเป็นพื้นที่ในอิทธิพลของฝ่ายค้าน หลังจาก ส.ส.เขตนั้นซึ่งสังกัดฝ่ายค้านถูกปลดจากกรณีอื้อฉาวคาวโลกีย์ ทำให้พีเอพีมีความหวังมากที่สุดในรอบ 21 ปีในการคว้าเก้าอี้เขตดังกล่าว
พีเอพีทุ่มเททรัพยากรทั้งหมด รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง และรองนายกฯ เตียว ชีเฮียน ก็ลงทุนไปช่วยหาเสียง
กระนั้น คะแนนของพีเอพีกระเตื้องขึ้นมาแค่ 3% และ เปง เองฮวด ผู้สมัครจากพรรคเวิร์กเกอร์ส ปาร์ตี้ กวาดชัยชนะอย่างสบายๆ ด้วยคะแนน 62%
การเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ซึ่งถูกมองว่า เป็นเสมือนการลงประชามติต่อแผนการริเริ่มใหม่ๆ ของพีเอพี ทำให้นักวิเคราะห์ฟันธงว่า รัฐบาลยังต้องพยายามอีกมากในการโน้มน้าวประชาชนที่นับวันยิ่งขุ่นเคืองมากขึ้น ให้กลับมาเป็นพวก
ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ครอบงำการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว อาทิ ผู้อพยพชาวต่างชาติ ค่าครองชีพ ช่องว่างรายได้ที่กว้างขึ้น เงินเดือนคณะรัฐมนตรี และระบบขนส่งมวลชนแออัด ก็ยังคงเป็นปัญหาในทุกวันนี้
บริดเจ็ต เวลช์ ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์จาก สิงคโปร์ แมเนจเมนต์ ยูนิเวอร์ซิตี (เอสเอ็มยู) วิจารณ์ว่า ผลการเลือกตั้งเป็นการส่งสาส์นชัดเจนว่า พีเอพียังต้องทำงานหนักในการปฏิรูปพรรคและนโยบายต่างๆ หมดยุคที่จะพึ่งพิงเพียงแค่การเติบโตของเศรษฐกิจ มาระดมหาการสนับสนุนทางการเมืองแล้ว แต่จะต้องหาทางสร้างนโยบายที่คำนึงถึงผู้คนกลุ่มต่างๆ และดึงเอาผู้ออกเสียงจากทั่วทุกส่วนในสิงคโปร์เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
พีเอพีนั้นได้รับการยกย่องอย่างสูงจากการนำสิงคโปร์ขึ้นสู่สถานะประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดของเอเชีย แต่พรรคก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากการผูกขาดอำนาจอย่างเหนียวแน่นยาวนาน (โดยที่อาศัยระบบการเลือกตั้งซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริงมาทำให้ตนเองยังครองที่นั่งในสภาถึง 81 ที่นั่งจากทั้งหมด 87 ที่นั่ง แม้ได้รับคะแนนเสียง 60% ในการเลือกตั้งปีที่แล้ว) และทั้งจากการเพิกเฉยต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ชาวสิงคโปร์จำนวนมากระอากับค่าครองชีพแพงลิบ และวิจารณ์ว่ารัฐบาลมัวแต่เน้นหนักการเติบโตทางเศรษฐกิจจนมองข้ามช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน
หลังการเลือกตั้งในปี 2011 รัฐบาลระดมสร้างแฟลตสาธารณะซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนกว่า 80% รวมทั้งทุ่มงบหลายร้อยล้านดอลลาร์ยกระดับระบบขนส่งสาธารณะ และลดการรับแรงงานต่างชาติท่ามกลางเสียงร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับการแย่งชิงงานและที่อยู่
คณะรัฐมนตรียังยอมลดเงินเดือน กระนั้น พวกเขาก็ยังคงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีรายได้ดีที่สุดในโลก โดยเงินเดือนพื้นฐานของนายกฯ อยู่ที่ปีละ 1.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไม่เพียงเท่านั้น ความไม่พอใจของประชาชนยังคงคุกรุ่นและรุนแรงขึ้นจากกรณีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินเกิดการขัดข้องอยู่ไม่หยุดหย่อน จนบ่อนทำลายชื่อเสียงของพีเอพีในด้านประสิทธิภาพการทำงาน
ศาสตราจารย์ยูจีน ตัน จากเอสเอ็มยูชี้ว่า ผลการเลือกตั้งในฮูกังก่อให้เกิดคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายเมื่อปีที่แล้ว ยังไม่ช่วยให้สิ่งต่างๆ เข้ารูปเข้ารอยใช่หรือไม่
ขณะที่ รูเบน หว่อง ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สำทับว่า การเลือกตั้งเมื่อวันเสาร์แสดงให้เห็นว่า ยังมีโมเมนตัมสำหรับการสานต่อการเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้นและการแสดงการคัดค้านในสิงคโปร์
ปัจจุบัน ถึงแม้สื่อกระแสหลักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่เว็บไซต์เครือข่ายสังคมก็กำลังแสดงบทบาทสำคัญมากกว่าในการถกเถียงอภิปรายความคิดเห็นของชาวสิงคโปร์
ชาวแดนลอดช่องมากมายระบายความรู้สึกผ่านอินเทอร์เน็ต และกล่าวหาว่าผู้นำพีเอพีเข้าไม่ถึงประชาชน
ทางด้านนายกฯ ลี เซียนลุง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้สร้างหน้าเฟซบุ๊กของตัวเองเพื่อสื่อสารกับประชาชนนั้น กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า คะแนนเสียงที่ฝ่ายรัฐบาลได้เพิ่มขึ้นในฮูกัง ถือเป็นความก้าวหน้า แต่เขาก็ยอมรับว่า รัฐบาลยังมีงานหนักรออยู่สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าในอีก 4 ปีข้างหน้า