รอยเตอร์ - ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 เคยเดินละเมออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งภาวะเครียดจัดและการนอนไม่หลับอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนเราเดินละเมอบ่อยขึ้น ผลการศึกษาในสหรัฐฯ เผย
จากการสำรวจความเห็นชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 16,000 คนใน 15 รัฐ พบว่าร้อยละ 29 เคยเดินละเมออย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และเกือบร้อยละ 3 ระบุว่าพวกเขาเดินละเมอระหว่าง 1 ครั้งต่อเดือนถึงต่อปี ส่วนอีกร้อยละ 1 บอกว่าพวกเขาเดินละเมออย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน
“เราไม่ทราบว่าการเดินละเมอซึ่งเป็นความผิดปกติประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนในหมู่คนทั่วไป แต่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่พอควร” โมริส โอฮายอน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยระบาดวิทยาว่าด้วยการนอนหลับสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหัวหน้านักวิจัย ระบุ โดยงานการศึกษาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสารประสาทวิทยา
ผลวิจัยในอดีตเกี่ยวกับการเดินละเมอมักสรุปจากการทดลองในห้องแล็บ แต่โอฮายอนชี้ว่า เขาต้องการทราบสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ผู้คนนอนหลับอยู่ในบ้าน
นักวิจัยได้สอบถามประชาชนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการนอน, สุขภาพ รวมถึงความผิดปกติด้านการนอน, จิตใจ หรืออื่นๆ ที่พวกเขาประสบอยู่
ผลศึกษาพบว่า คนบางกลุ่มจะมีอาการเดินละเมอบ่อยเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่หยุดหายใจชั่วคราวขณะหลับ (sleep apnea), นอนไม่หลับ, ดื่มสุราจัด และรับประทานยานอนหลับเป็นประจำ
ผู้ที่รับประทานยาคลายเครียดกลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เสี่ยงที่จะเกิดอาการเดินละเมอมากกว่าคนกลุ่มอื่น นอกจากนี้ ภาวะเครียดจัดและโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ล้วนเป็นสาเหตุให้คนลุกขึ้นมาเดินขณะหลับได้ทั้งสิ้น
ทีมนักวิจัยของโอฮายอนเผยด้วยว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยเดินละเมอบอกว่า พวกเขามีญาติมิตรที่เคยเดินละเมอเช่นกัน
ทิโมธี ยัง ประสาทศัลยแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญความผิดปกติด้านการนอน จากรัฐวิสคอนซิน กล่าวว่า “ผลการศึกษาครั้งนี้ไม่ทำให้ผมแปลกใจนัก”
ยัง ซึ่งไม่มีส่วนในงานวิจัย ชี้ว่า การเดินละเมออาจเกิดขึ้นได้ในวัยเด็ก แต่จะค่อยๆ หายไปเมื่อคนเราเติบโตขึ้น ซึ่งผลการวิจัยที่ผ่านๆ มาพบว่า เด็กร้อยละ 30 เคยเดินละเมอด้วยกันทั้งนั้น
การเดินละเมอยังครอบคลุมถึงพฤติกรรมอีกหลายอย่าง ตั้งแต่การพูดขณะหลับ เรื่อยไปจนถึงการลุกออกจากเตียงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาการเช่นนี้จะก่อปัญหาก็ต่อเมื่อคนที่ละเมอเริ่มก้าวลงบันได หรือเดินออกจากบ้านของตัวเอง