xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอาหรับเตรียมประชุมพิจารณาแผนยกระดับจีซีซีเป็น “สหภาพ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - ผู้นำรัฐอ่าวเปอร์เซียเตรียมเข้าร่วมประชุมในกรุงริยาด วันพรุ่งนี้ (14) เพื่อพิจารณาข้อเสนอของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการยกระดับคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ขึ้นเป็นสหภาพ (Union) โดยมีแนวโน้มว่าจะเริ่มต้นที่ซาอุดีอาระเบียและบาห์เรนก่อน เจ้าหน้าที่เผย

ผู้นำจีซีซี ซึ่งประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, คูเวต, กาตาร์, โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “จะหารือถึงรูปแบบของสหภาพ ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับบาห์เรน” เจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อระบุ

ซามิรา ราจับ รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลบาห์เรน เปิดเผยว่า ข้อเสนอยกระดับ จีซีซี ขึ้นเป็นสหภาพ จะเป็นวาระสำคัญของการประชุมที่กรุงริยาดในวันพรุ่งนี้ (14) โดยอาจเริ่มที่การรวมตัวระหว่าง 2-3 ประเทศก่อน

กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงเสนอแนะให้จัดตั้งสหภาพจีซีซี เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่ง สะอูด บิน ไฟซอล รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ก็สนับสนุนแผนดังกล่าว

“ภัยคุกคามที่มีมาหลายรูปแบบ ทำให้ จีซีซี จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากความร่วมมือมาเป็นการสร้างเอกภาพ ซึ่งเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกประเทศ” สะอูด เผยเมื่อเดือนที่แล้ว

อับดุลคอลิก อับดุลเลาะห์ นักวิเคราะห์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า การจัดตั้งสหภาพจีซีซีเป็นอนาคตที่มองเห็นได้รางๆ โดยคาดว่าที่ประชุม ณ กรุงริยาด จะประกาศตั้งกลุ่ม “อย่างน้อยในระดับทวิภาคี”

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า สมาชิกจีซีซีทั้ง 6 ประเทศใช่จะกระตือรือร้นอยากก่อตั้งสหภาพไปเสียทั้งหมด เพราะตั้งแต่ จีซีซี ถือกำเนิดขึ้น แต่ละประเทศก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อสร้างบูรณภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งดูจะทำได้ยากยิ่ง

ด้าน อันวาร์ เอชกี นักวิเคราะห์จากสถาบันตะวันออกกลางเพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและยุทธศาสตร์ ชี้ว่า แรงกดดันจากอิหร่านที่เข้ามาแทรกแซงกิจการของจีซีซี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องการผนึกกำลังชาติอาหรับให้รวมเป็นสหภาพ

ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านร้อนแรงขึ้น หลังริยาดส่งกองทัพเข้าไปในบาห์เรนเพื่อช่วยผู้ปกครองมุสลิมซุนนีปราบปรามผู้ประท้วงชาวชีอะห์เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่สถานการณ์ซีเรียซึ่งประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด พันธมิตรหลักของอิหร่าน ยังคงยื้ออำนาจ และการที่เตหะรานพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในอิรักหลังสหรัฐฯถอนกำลังออกไป ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่โหมกระพือความขัดแย้งภายในตะวันออกกลางให้รุนแรงยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น