xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกชี้กรุงเทพฯ “ร้อนตับแตก” สะท้อนปัญหาผังเมืองแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเล่นสงกรานต์ในกรุงเทพมหานครท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนจัด เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
รอยเตอร์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ผ่านพ้นมหาอุทกภัยได้เพียง 5 เดือน กรุงเทพมหานครก็ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนระอุที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ จุดกระแสวิจารณ์ผังเมืองที่ไร้ระบบในเมืองใหญ่ที่สุดและร้อนที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย

อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยในกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สูงถึง 40.1 องศาเซลเซียส ตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ทำให้ทางการต้องประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับอากาศร้อน

นักวิจารณ์บางคนชี้ว่า อุณหภูมิที่ร้อนจัดใน กทม. เป็นอานิสงส์จากผังเมืองยอดแย่ รวมไปถึงการตัดเล็มต้นไม้เพื่อไม่ให้พันเสาไฟฟ้า, การออกแบบอาคารที่เก็บกักความร้อน และสวนสาธารณะกลางเมืองที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง

ประวิทย์ แจ่มปัญญา ผู้อำนวยการสำนักพยากรณ์อากาศส่วนกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า การขาดแคลนพื้นที่สีเขียวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กรุงเทพมหานครมีอากาศร้อนมาก

“ต้นไม้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศ และลดความร้อนได้” ประวิทย์กล่าว

แม้จะตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทว่าเมืองหลวงของไทยกลับมีสัดส่วนต้นไม้และพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรน้อยกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ของเอเชีย

ดัชนีความเป็นเมืองสีเขียวในเอเชีย (Asian Green City Index) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัย อีโคโนมิสต์
อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) วิเคราะห์ว่า กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียง 3 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน ซึ่งจัดว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 39 ตารางเมตร และแตกต่างจากสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรสูงถึง 66 ตารางเมตร ราวฟ้ากับเหว

ผังเมืองกรุงเทพมหานครทุกวันนี้ค่อนข้างยุ่งเหยิง เต็มไปด้วยปัญหารถติดเรื้อรัง, สิ่งกีดขวางทางเท้า หรือแม้กระทั่งไม่มีทางเท้าเลย รวมไปถึงระเบียบโซนนิ่งที่หละหลวม ทำให้บ้านเรือนและอพาร์ตเมนต์สามารถปลูกสร้างปะปนอยู่กับอาคารสำนักงานและศูนย์การค้าได้อย่างไม่จำกัด

เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า อุณหภูมิในกรุงเทพฯ ร้อนขึ้น เนื่องจากการออกแบบอาคารที่ค่อนข้างล้าสมัย ขาดฉนวนป้องกันความร้อนที่จะช่วยให้อาคารเย็นลง ทำให้สิ้นเปลืองไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

สภาพอากาศร้อนจัดยังมาประจวบเหมาะกับภัยแล้งซึ่งกำลังคุกคาม 50 จังหวัดของไทยอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึงไฟป่าที่เกิดเองตามธรรมชาติ และด้วยฝีมือของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม อากาศที่ร้อนอบอ้าวก็เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจบางประเภท โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศ, โลชั่นกันแดด และอุปกรณ์ทำความเย็นอื่นๆ ที่ต่างมียอดขายสูงเป็นพิเศษ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“บริษัท มิสทิน คอสเมติกส์ ไทยแลนด์ มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด, โลชั่น และครีมบำรุงผิว เพิ่มขึ้นกว่าเดือนเมษายนปีที่แล้วราว 14%” เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนการตลาดเผย
กำลังโหลดความคิดเห็น