เอเอฟพี - ประชากรกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกอาจตกอยู่ในสภาวะอดอยาก หากอินเดียและปากีสถานใช้อาวุธนิวเคลียร์เข้าห้ำหั่นกัน เพราะเพียงสงครามนิวเคลียร์ “อย่างจำกัด” ก็อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพอากาศโลก ผลการวิจัยซึ่งเผยแพร่วานนี้ (24) เตือน
นอกจากกัมมันตภาพรังสีที่จะแผ่กระจายอย่างกว้างขวางเข้าไปสะสมในพืชผลทางการเกษตรที่ห่างไกลจากศูนย์กลางการระเบิดมากแล้ว การศึกษายังพบว่า เถ้าถ่านที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศจะทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง และมีฝนตกน้อยลงจนการเพาะปลูกไม่ได้ผล
ดร.อีรา เฮลฟานด์ จากองค์กรแพทย์นานาชาติเพื่อการป้องกันสงครามนิวเคลียร์ ระบุว่า ผลวิจัยครั้งนี้เป็นการสนับสนุนคำเตือนถึงผลร้ายของการใช้อาวุธนิวเคลียร์
“ไม่ใช่แค่อาวุธที่สหรัฐฯ และรัสเซียครอบครองอยู่เท่านั้นที่จะเป็นภัยต่อโลก... แม้แต่คลังอาวุธที่มีขนาดรองๆลงมาก็เป็นภัยคุกคามต่อเผ่าพันธุ์ของเรา หรือแม้เพียงอารยธรรมของเราก็ตาม มันอาจเป็นจุดจบของสังคมยุคใหม่ที่เราเห็นๆ กันอยู่” เฮลฟานด์ ระบุ
ผลการศึกษาดังกล่าวถูกเสนอต่อที่ประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ณ เมืองชิคาโก และจะเผยแพร่ลงวารสารการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก
นักวิจัยพบว่า สงครามนิวเคลียร์จะทำให้ผลผลิตข้าวโพดในสหรัฐฯ ลดลงเฉลี่ย 10% ในช่วง 1 ทศวรรษ ขณะที่ผลผลิตถั่วเหลืองจะลดลงราว 10% โดยปัญหาจะรุนแรงที่สุดหลังสงครามนิวเคลียร์ผ่านไป 5 ปี
ปริมาณข้าวที่ผลิตในจีนจะลดลงราว 21% ในช่วง 4 ปีแรกหลังสงคราม จากนั้นจะลดลง 10% ในอีก 6 ปีให้หลัง ขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรในประเทศอื่นๆ ก็อาจได้รับผลกระทบรุนแรงด้วยเช่นกัน เฮลฟานด์ ให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอาจรุนแรงกว่าที่ทำนายไว้ เนื่องจากโมเดลที่ใช้อยู่ยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลตที่เพิ่มขึ้น และโอกาสที่จะเกิดภัยหนาวทำลายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากอุณหภูมิของโลกลดลงอย่างเฉียบพลัน
ในสภาวะดังกล่าว ราคาอาหารจะพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ปัญหาขาดแคลนพืชผลจะสร้างความตื่นตระหนกไปจนถึงระดับนานาชาติ ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารการกินได้น้อยลง
จากผลวิจัยล่าสุดของยูเอ็นที่ระบุว่า พลเมืองของโลกไม่ต่ำกว่า 925 ล้านคนกำลังตกอยู่ในสภาวะอดอยาก สงครามนิวเคลียร์จึงอาจนำมาซึ่งการอดตายของพลเมืองจำนวนมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
วิกฤตดังกล่าวจะกระตุ้นให้เหตุจลาจลต่างๆ รุนแรงขึ้น และเกิดการต่อสู้ทั้งในและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรคระบาดที่มักเกิดพร้อมกับความอดอยาก เช่น อหิวาตกโรคและโรคบิด ซึ่งจะทำให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นยังเทียบไม่ได้กับ “ฤดูหนาวนิวเคลียร์” (Nuclear Winter) ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ทั่วโลก หากสหรัฐฯ หรือรัสเซียนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ แม้จะเพียงส่วนน้อยก็ตาม
“สหรัฐฯ กับรัสเซียยังไม่มีแนวโน้มที่จะก่อสงครามตอนนี้ แต่เราทราบมาว่า มีอย่างน้อย 5 ครั้งที่พวกเขาเคยเตรียมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ประหัตประหารซึ่งกันและกัน เพราะเชื่อว่าตนเองถูกอีกฝ่ายโจมตี” เฮลฟานด์ ระบุ
ตราบใดที่อาวุธมหาประลัยเหล่านี้ยังไม่ถูกทำลายหมดสิ้นไป เฮลฟานด์ บอกว่ามีแค่ “โชค” เท่านั้นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด หรือความบกพร่องทางคอมพิวเตอร์ จนนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบ
มิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ผู้ยุติสงครามเย็น และเปิดทางให้รัสเซียเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย กล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นอีกหลักฐานที่ชี้ว่า อาวุธนิวเคลียร์ควรถูกเลิกใช้อย่างถาวร
“เมื่อ 25 ปีก่อน ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (แห่งสหรัฐฯ) กับผม ปิดการประชุมที่นครเจนีวาด้วยแถลงการณ์ร่วมว่า สงครามนิวเคลียร์ไม่อาจนำมาซึ่งชัยชนะ และไม่สมควรจะเกิดขึ้น” กอร์บาชอฟ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กล่าวในถ้อยแถลง