เอเอฟพี - สหรัฐฯ ผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่ของโลกเผย พบวัวติดเชื้อวัวบ้าในแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ทางการพยายามเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ โดยยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรค และเนื้อวัวที่ติดเชื้อก็ไม่ได้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า พบวัวที่ติดเชื้อวัวบ้า หรือบีเอสอี (Bovine Spongiform Encephalopathy) ทางตอนกลางของแคลิฟอร์เนีย ในวันจันทร์ (23) ที่ผ่านมา โดยยืนกรานว่าไม่เป็นอันตรายต่อห่วงโซ่อาหาร หรือสุขภาพของมนุษย์ แต่อย่างใด
นอกจากนี้ เชื้อบีเอสอีก็ไม่สามารถถ่ายทอดผ่านทางน้ำนมได้
“ยูเอสดีเอยังเชื่อมั่นในความสมบูรณ์ของปศุสัตว์ และความปลอดภัยของเนื้อวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว ในระหว่างดำเนินการสอบสวนการระบาดของโรค ทางกระทรวงจะรายงานผลอย่างเหมาะสม และโปร่งใส” กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ แถลง
ตัวอย่างของสัตว์ที่ติดเชื้อถูกส่งไปยังห้องแล็บในไอโอวา ซึ่งพวกเขาตรวจเจอรูปแบบของเชื้อที่ไม่ค่อยได้พบบ่อยนัก โดยผลการตรวจดังกล่าวถูกส่งไปแบ่งปันข้อมูลให้กับห้องแล็บในอังกฤษ และแคนาดาแล้ว
สำหรับการประกาศยอมรับการระบาดของโรคนั้นเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างยิ่ง โดยการระบาดก่อนหน้านี้ ทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา อิสราเอล ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้การค้าอาหารทั่วโลกหยุดชะงัก ก่อความสูญเสียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ทีเดียว
ด้านสมาคมผู้ส่งออกเนื้อสหรัฐฯ ที่ยังต้องเฝ้าระมัดระวังก็ออกมายืนยันถึงความปลอดภัย เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกแล้ว
ตามข้อมูลของสมาคมดังกล่าว การส่งออกเนื้อวัวสร้างรายได้ให้สหรัฐฯ มูลค่ากว่า 353 ล้านในแต่ละเดือน โดยตลาดสำคัญอยู่ที่เม็กซิโก แคนาดา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ มีการตรวจพบวัวบ้าในอียูมากกว่า 190,000 ตัน นับตั้งแต่การวินิจฉัยโรคดังกล่าวเป็นครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อปี 1986 จนต้องฆ่าหมู่วัวไปหลายล้านตัว
นอกจากนี้ คนอีกมากกว่า 200 รายทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษ ต้องสงสัยว่าเสียชีวิตจากเชื้อวัวบ้าสายพันธุ์ที่เป็นกับมนุษย์ ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในปี 1996 ด้วย
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โรคนี้มีสาเหตุมาจากการใช้ชิ้นส่วนของโคหรือกระบือที่ติดเชื้อเป็นอาหารให้กับสัตว์ตัวอื่นๆ ส่วนทางการก็เชื่อว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อนั้นก่อให้เกิดเชื้อโรคทำลายสมองสายพันธุ์มนุษย์ได้