เอเอฟพี - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ แสดงความยินดีต่อนาย ทาอูร์ มาตัน รูอัค อดีตผู้บัญชาการทหาร ซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีติมอร์ตะวันออกคนใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ถ้อยแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรของโอบามา ยังสรรเสริญเกียรติคุณของประธานาธิบดี โฮเซ รามอส-ฮอร์ตา ซึ่งกำลังพ้นจากตำแหน่งผู้นำติมอร์ตะวันออกด้วย
“ผมขอแสดงความยินดีกับคุณ ทาอูร์ มาตัน รูอัค ที่ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งติมอร์ตะวันออก และขอแสดงความยินดีต่อชาวติมอร์ตะวันออกทุกคนที่มีส่วนในการเลือกตั้งอย่างสันติ, เสรี และโปร่งใสครั้งนี้”
รูอัค วัย 55 ปี ซึ่งเป็นวีรบุรุษในสงครามเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซีย จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่แทนที่ประธานาธิบดี รามอส-ฮอร์ตา ซึ่งพ่ายการเลือกตั้งรอบแรกไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ติมอร์ตะวันออกจะมีพิธีฉลองเอกราชครบปีที่ 10 ในเดือนหน้า และกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1999 ก็เตรียมถอนกำลังออกไปในช่วงปลายปีนี้
โอบามา ผู้ซึ่งเคยใช้ชีวิตวัยเด็ก 4 ปีในอินโดนีเซียซึ่งปกครองติมอร์ตะวันออกมาก่อน ระบุว่า ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯกับดินแดนเล็กๆแห่งนี้ “จะเป็นรากฐานสำคัญ และยืนยงแน่นแฟ้น” เนื่องจาก 2 ประเทศ “ต่างเชิดชูระบอบประชาธิปไตย, เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน” เช่นเดียวกัน
ผู้นำสหรัฐฯ ยังให้สัญญาว่าจะช่วยส่งเสริมสถาบันประชาธิปไตย ตลอดจนสันติภาพและความมั่นคงในติมอร์ตะวันออก
รูอัค ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนโหวตร้อยละ 61.23 ตามข้อมูลเบื้องต้นของสำนักเลขาธิการการเลือกตั้ง ขณะที่คู่แข่งอย่าง ฟรานซิสโก กูเตอร์เรส แกนนำเรียกร้องเอกราชผู้มีฉายาว่า “ลู โอโล” ตามหลังมาห่างๆ ด้วยคะแนนร้อยละ 38.77
ประธานาธิบดี รามอส-ฮอร์ตา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แพ้การเลือกตั้งรอบแรกไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา จึงหมดสิทธิ์สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2
รูอัค ซึ่งมีชื่อจริงว่า โฮเซ มาเรีย วาสคอนเซลอส เคยถูกองค์การสหประชาชาติกล่าวหาว่า มีส่วนพัวพันกับการขนอาวุธเถื่อนเมื่อปี 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่ติมอร์ตะวันออกเกิดการจลาจลสู้รบระหว่างกลุ่มต่างๆจนเกือบอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ทว่าก็ไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเอาผิดกับบุรุษผู้นี้