เอเจนซี - ภาพคุ้นตาของเจ้าหน้าที่ “ซีเคร็ต เซอร์วิส” (Secret Service) ซึ่งทำหน้าที่อารักขาผู้นำสหรัฐฯ คือ แว่นกันแดดวาววับ สูทสีดำ และสายตาคมกริบ
คนเหล่านี้ต้องไม่ทำตัวเป็นข่าว ดังนั้น การพักงานเจ้าหน้าที่ 11 คนช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับหญิงขายบริการอย่างไม่เหมาะสมในประเทศโคลอมเบีย จึงนำมาซึ่งข่าวพาดหัวไม่น่าปลื้ม และความสนใจที่มีต่อวัฒนธรรมของหน่วยงานนี้
การสอบสวนภายในที่กำลังดำเนินอยู่ ควรที่จะแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งโด่งดังถึงขั้นกลบข่าวการประชุมของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับเหล่าผู้นำละตินอเมริกา ในเมืองการ์ตาเคนา ประเทศโคลอมเบีย เป็นความผิดปกติที่นานทีจะเกิดขึ้น หรือว่าเป็นสัญญาณแสดงถึงปัญหาวงกว้างของหน่วยงานนี้
แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันเปราะบาง และเงื่อนไขการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้ กลุ่มคนที่ถูกคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังและอุทิศชีวิตปกป้องบรรดาผู้นำสหรัฐฯ และครอบครัว
คนที่คุ้นเคยกับหน่วยงานซีเคร็ต เซอร์วิส เล่าถึงชั่วโมงการทำงานยาวนานระหว่างการเดินทางไปกับประธานาธิบดีที่เต็มไปด้วยความเครียด และบางครั้งมีการกำหนดตารางเวลาออกมาในนาทีสุดท้าย
หลังเลิกงาน เจ้าหน้าที่เหล่านี้มักนัดดื่มกันที่บาร์ คนที่ไม่ต้องเดินทางไปกับประธานาธิบดี จะไปปาร์ตี้ “เลี้ยงส่ง” หลังจากเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันของประธานาธิบดี ทะยานขึ้นฟ้าเพื่อกลับสู่วอชิงตัน หรือเดินทางไปยังจุดหมายอื่นๆ
วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12) เจ้าหน้าที่อารักขาเหล่านี้บางคนหิ้วหญิงขายบริการกลับไปยังโรงแรมติดชายหาดในการ์เตเคนา ใกล้กับสถานที่ซึ่งจะเป็นที่พักของโอบามาในวันรุ่งขึ้น และกลายเป็นข่าวฉาวตลอดสุดสัปดาห์
“เคยได้ยินแต่ปาร์ตี้หลังประธานาธิบดีกลับ แต่นี่เกิดขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีจะเดินทางถึง ดังนั้น จึงมีคำถามว่า หน่วยงานนี้จำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนตัวเองอย่างลึกซึ้งหรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างหรือเปล่า ก่อนที่ประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี หรือสมาชิกคณะรัฐมนตรีจะต้องตกอยู่ในอันตราย” ส.ส. ดาร์เรลล์ อิสซา ของสหรัฐฯ ตั้งคำถามผ่านรายการเฟซ เดอะ เนชัน ของซีบีเอส
ราล์ฟ บาแชม อดีตผู้อำนวยการสำนักงานซีเคร็ต เซอร์วิส ที่ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทเอกชนนาม คอมมานด์ คอนซัลติ้ง กรุ๊ป มองว่า เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นน้อยเต็มทีสำหรับหน่วยงานที่ภาคภูมิใจในความเป็นมืออาชีพของตนเอง ไม่น่าใช่ปัญหาเชิงระบบแต่อย่างใด
ด้าน เดวิด เจอร์เกน นักวิเคราะห์การเมืองที่เคยทำงานให้ประธานาธิบดี 4 คน รวมถึงโรนัลด์ เรแกน ที่รอดพ้นจากการลอบสังหารเพราะการปกป้องของเจ้าหน้าที่ซีเคร็ต เซอร์วิส เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอย่างในโคลอมเบีย ไม่ใช่ถึงกับเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนี้ เนื่องจากพวกมืออาชีพผู้กล้าหาญพร้อมยินดีรับกระสุนแทนประธานาธิบดี ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแบบชายชาตรี
แต่สำหรับโรนัลด์ เคสเลอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “อิน เดอะ เพรสซิเดนต์ส ซีเคร็ต เซอร์วิส : บีไฮนด์ เดอะ ซีนส์ วิธ เอเจนต์ อิน เดอะ ไลน์ ออฟ ไฟร์ แอนด์ เดอะ เพรสซิเดนต์ เดย์ โพรเท็กต์” (In the President's Secret Service: Behind the Scenes With Agents in the Line of Fire and the Presidents They Protect) วิจารณ์ว่า การเกี่ยวข้องกับโสเภณีอาจทำให้อาชีพของเจ้าหน้าที่ซีเคร็ต เซอร์วิสถึงจุดจบ เนื่องจากโสเภณีอาจเป็นนางนกต่อของกลุ่มก่อการร้าย ขบวนการค้ายา หรือแม้แต่หน่วยข่าวกรองต่างชาติ
เคสเลอร์สำทับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในโคลอมเบียสะท้อนถึงมาตรฐานที่กำลังย่ำแย่ของหน่วยซีเคร็ต เซอร์วิส โดยยกตัวอย่างความหละหลวมของหน่วยงานนี้จากการอนุญาตให้แขกไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงในทำเนียบขาวในช่วงแรกๆ ที่โอบามารับตำแหน่ง
กระนั้น หน่วยงานนี้ยืนยันว่าความปลอดภัยของโอบามาไม่เคยย่อหย่อน พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของเคสเลอร์ที่ว่า หน่วยงานนี้กำลังมีปัญหาในวงกว้าง
“เรามีเจ้าหน้าที่ที่เดินทางทั่วโลกทุกวันเพื่อปฏิบัติภารกิจรักษาความปลอดภัยล่วงหน้าในงานมากมายนับพันๆ และไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องผิดปกติ” เอ็ด โดโนแวน โฆษกซีเคร็ต เซอร์ซิส กล่าว
ขณะที่โอบามากล่าวภายหลังจบซัมมิตว่าจะยังไม่ตัดสินใดๆ ก่อนที่จะรับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด
“คนเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่อย่างยอดเยี่ยมในทุกๆ วันเพื่อปกป้องผม ครอบครัวของผม และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พวกเขาทำงานหนักภายใต้สภาพแวดล้อมที่กดดันมาก และทำงานได้อย่างโดดเด่นเกือบจะทุกครั้ง”
กระนั้น โอบามาสำทับว่าเขาจะ “โกรธมาก” หากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่อารักขาเป็นเรื่องจริง