เอเอฟพี/เอเจนซี - เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.6 นอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย วันนี้ (11) ทำให้ประชาชนในพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลหลายประเทศอพยพกันอย่างแตกตื่น ขณะที่ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์ในฝั่งมหาสมุทรอินเดียแล้ว
กรมสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือยูเอสจีเอสระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีความรุนแรงขนาด 8.6 มีศูนย์กลางอยู่ห่างจากจังหวัดบันดา อาเจะห์ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 435 กิโลเมตร ที่ความลึก 33 กิโลเมตร เมื่อเวลา 14.38 น.ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 15.38 น.ตามเวลาของไทย โดยปรับลดความรุนแรงลงจากก่อนหน้านี้ที่ระดับ 8.9 และ 8.7 ตามลำดับ
ด้านสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติของอินโดนีเซียเผยว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 8.2 ตามหลังแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ เมื่อเวลา 17.43 น. ห่างจากจังหวัดบันดา อาเจะห์ราว 615 กิโลเมตร
ขณะที่แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนี้สามารถรับรู้ได้ในหลายประเทศ ทั้งสิงคโปร์ อินเดียตอนใต้ และไทย อีกทั้งยังมีการประกาศเตือนภัยสึนามิในอินเดีย บริเวณหมู่เกาะอันดามัน และนิโคบาร์ ศรีลังกา บริเวณชายฝั่งทางตะวันออก เช่นเดียวกับ 6 จังหวัดทางภาคใต้ของไทย และมาเลเซีย
ส่วน จีโอไซแอนซ์ ออสเตรเลีย หน่วยงานด้านภัยพิบัติในกรุงแคนเบอร์รา ชี้ว่า ออสเตรเลียไม่มีความเสี่ยงจากเหตุธรณีพิโรธครั้งนี้ ขณะที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ก็มองว่า ประเทศตนเองไม่ได้รับอันตรายจากภัยพิบัตินี้เช่นกัน
ยิ่งไปกว่านั้น แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังเกิดใกล้เคียงกับพื้นที่เดียวกับแผ่นดินไหวระดับ 9.1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2004 ซึ่งส่งคลื่นยักษ์ถล่มเกาะสุมาตรา คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 170,000 ราย จากยอดเหยื่อรวม 230,000 คนใน 13 ประเทศฝั่งมหาสมุทรอินเดีย
ประธานาธิบดียุโธโยโน บัมบัง ของอินโดนีเซีย เผยว่า ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต หรือความเสียหายใดๆ ในจังหวัดอาเจะห์ รวมทั้งยังไม่เกิดสึนามิขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งทางการก็ตื่นตัวจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่
นักวิเคราะห์ของสำนักงานธรณีฟิสิกส์และอุตุนิยมวิทยาอิเหนาชี้ว่า พื้นที่ 5 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ อาเจะห์ สุมาตราเหนือ สุมาตราตะวันตก เบงกูลู และลัมปัง เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยสูงสุด
ซูซาน ซาร์ฌองต์ จากศูนย์สำรวจทางธรณีวิทยาอังกฤษ (บีจีเอส) ให้ความเห็นว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ได้น้อยมาก เนื่องจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเลเป็นไปในแนวขวาง ซึ่งไม่ทำให้พื้นทะเลลดระดับลง ต่างจากการเคลื่อนที่ในแนวดิ่งซึ่งจะก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ติดตามมาได้