เอเจนซี - เกาหลีเหนือเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยจรวด ในหุบเขาป่าทึบ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในสัปดาห์นี้แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของแดนโสมแดงในการยิงขีปนาวุธ ที่สามารถโจมตีข้ามทวีปได้ไกลถึงสหรัฐฯ
เปียงยาง ประกาศว่า จรวดที่จะยิงในสัปดาห์นี้ เป็นเพียงจรวดนำดาวเทียมตรวจสอบสภาพอากาศขึ้นสู่วงโคจรเท่านั้น แต่ เกาหลีใต้ และ สหรัฐฯ มองว่า เป็นการทดลองขีปนาวุธแอบแฝง และแม้ว่าทิศทางการยิงจะมีความเสี่ยงไม่มากนัก ทว่า ตัวชี้นำยังไร้ประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านี้ นักข่าวต่างชาติถูกพาไปยังฐานยิงจรวดโซแฮ ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนจีน ที่มีการเดินหน้าเตรียมพร้อมจรวดอึนฮา-3 และดาวเทียม อันเป็นความเคลื่อนไหวที่ปรากฏไม่บ่อยนัก ขณะที่จรวด 3 ตอนนี้ได้รับการติดตั้งบนฐานยิง บ่งชี้ว่าพร้อมสำหรับแผนการยิงในช่วงวันที่ 12-16 เมษายนนี้แล้ว
“ผู้บัญชาการสูงสุด คิม จองอึน ตัดสินใจอย่างกล้าหาญ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมพวกคุณจึงได้รับอนุญาติให้เข้าใกล้ฐานยิงจรวดได้” จาง มยองจิน ผู้อำนวยการฐานยิงจรวดกล่าวกับนักข่าวต่างชาติ ในวันอาทิตย์ (8)
ทั้งนี้ จรวดส่วนที่ 2 นั้น ถูกกำหนดให้แยกตัวในทะเลทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ ห่างจากฐานปล่อยจรวดราว 3,000 กิโลเมตร โดยผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า เป็นไปได้ที่จรวดส่วนนี้จะตกลงสู่พื้นเป็นครั้งแรก หากเกิดความผิดพลาด
หากโสมแดงประสบความสำเร็จในการแยกจรวดส่วนที่ 3 อย่างที่เคยกล่าวอ้างไว้เมื่อปี 2009 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ระบุว่า เป็นความล้มเหลวในการนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ก็จะเท่ากับเป็นการแสดงให้เห็นถึงเทคโนโลยี และความสามารถในการผลิตขีปนาวุธ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อบรรจุหัวรบโจมตีข้ามทวีปได้
นอกจากนี้ เปียงยางยังเปลี่ยนฐานยิงจรวด ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ทางตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลี เพื่อลดความเสี่ยงที่เศษซากจรวดจะตกในดินแดนของญี่ปุ่น อย่างที่เคยเกิดขึ้นจากการยิงทดลองขีปนาวุธก่อนหน้านี้
“พวกเขาไปไกลกว่าคำถามเกี่ยวกับพิสัยยิงแล้ว แต่พวกเขายังจำเป็นต้องแก้ปัญหามากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่แม่นยำซึ่งจำเป็นสำหรับการบรรจุหัวรบ และเครื่องนำทาง” เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้รายหนึ่ง กล่าว
สำหรับจรวดอึนฮา-3 นี้ น่าจะเหมือนกับขีปนาวุธ 3 ตอน ใช้เชื้อเพลิงเหลว ที่เกาหลีเหนือเคยยิงไปยังญี่ปุ่นในปี 2009 โดยตกลงมาหลังเดินทางไปได้ไกล 3,800 กิโลเมตร ผู้เชี่ยวชาญทางทหารในเกาหลีใต้ ชี้
จรวดลูกใหม่นี้น่าจะถูกออกแบบมาให้มีพิสัยยิงไกลกว่า 6,700 กิโลเมตร และสามารถบรรทุกสิ่งของได้หนักถึง 1,000 กิโลกรัม โดยจุดที่ใกล้สุด คือ มลรัฐอะแลสกา ของสหรัฐฯ ซึ่งห่างจากเกาหลีเหนือประมาณ 5,000 กิโลเมตร
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์นานาประเทศส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการยิงจรวดอึนฮา-2 เมื่อปี 2009 แต่มีผู้เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่า จรวดอึนฮา-3 มีความเสี่ยงสูงที่จะตกลงในพื้นที่เมืองที่มีประชากรหนาแน่น
ความเสี่ยงใหญ่สุด คือ ความล้มเหลวของระบบนำทาง ซึ่งอาจส่งจรวดไปทางเหนือของจีน ผู้สนับสนุนทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจรายใหญ่ของเปียงยาง หรือแม้แต่กลไกการทำลายไม่ทำงาน เมื่อแยกส่วน มาร์คัส ชิลเลอร์ ผู้เชี่ยวชาญระบบขีปนาวุธโสมแดงจากสถาบันชูมัคเกอร์ เทคโนโลยี ในเมืองมิวนิก กล่าว
อย่างไรก็ตาม ชิลเลอร์ ชี้ว่า ความเสี่ยงดังกล่าวนั้นต่ำมาก จนเกือบเป็นศูนย์ทีเดียว