xs
xsm
sm
md
lg

OECD วอนประเทศร่ำรวยทบทวนแผนตัดเงินบริจาค-หวั่นซ้ำเติมประเทศยากจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
เอเอฟพี - การที่ประเทศร่ำรวยหันมาใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด ส่งผลให้เงินช่วยเหลือสำหรับประเทศกำลังพัฒนาลดลงราว 2.7% ในปีที่แล้ว องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เผย ขณะที่องค์กรบรรเทาทุกข์ อ็อกซ์แฟม เตือนว่า ชีวิตพลเมืองจำนวนมากกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

การลดเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาครั้งแรกในรอบ 14 ปี มีทีท่าจะดำเนินต่อไป ในขณะที่ประเทศยากจนต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ, การค้า และการลงทุนของโลกที่ซบเซาลงโดยถ้วนหน้า โออีซีดี เผย

รายงานของ โออีซีดี ซึ่งเผยแพร่สัปดาห์นี้ ระบุว่า ปีที่แล้วสมาชิก โออีซีดี 34 ประเทศบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งสิ้น 133,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 0.3% ของรายได้ประชาชาติรวมกัน

ยอดบริจาคที่ตกต่ำลง “คือ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเกิดในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ และต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด” แองเจิล เกอร์เรีย เลขาธิการ โออีซีดี ระบุ

“เงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงส่วนน้อยนิดจากรายได้ทั้งหมด ซึ่งเราบริจาคให้แก่ประเทศยากจน แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ การลงทุนและการส่งออกจะซบเซาลงไปอีก”

“ดิฉันขอยกย่องหลายๆประเทศที่ยังรักษาพันธกรณีเอาไว้ แม้จะต้องควบคุมรายจ่ายอย่างเข้มงวดก็ตาม พวกเขาแสดงให้เห็นว่า วิกฤตการเงินไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างลดความร่วมมือในการพัฒนา”

ผู้บริจาคเงินสดรายใหญ่ที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ, เยอรมนี, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น แต่เมื่อเปรียบเทียบจากขนาดเศรษฐกิจแล้ว เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์ และสวีเดน เป็นชาติที่ใจกว้างที่สุด โดยบริจาคเงินช่วยเหลือเกิน 0.7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติตั้งไว้

รายงานเผยด้วยว่า ประเทศที่ตัดเงินช่วยเหลือมากที่สุด ได้แก่ ออสเตรีย, เบลเยียม, กรีซ, ญี่ปุ่น และ สเปน

ด้านองค์กรบรรเทาทุกข์ อ็อกซ์แฟม อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่า การที่บางประเทศสามารถรักษาพันธกิจ และเพิ่มวงเงินช่วยเหลือได้ สะท้อนให้เห็นว่า การตัดเงินช่วยเหลือ “เป็นเพียงตัวเลือกทางการเมือง มากกว่าความจำเป็นทางเศรษฐกิจ”

เจเรมี ฮ็อบส์ ผู้บริหารองค์กรแห่งนี้ ชี้ว่า “การลดเงินช่วยเหลือถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียระดับโลก”

“การตัดเงินบริจาคไม่ได้ช่วยให้งบประมาณสมดุลขึ้นได้ ทั้งยังก่อความสูญเสียต่อชีวิตพลเมือง เพราะเท่ากับพวกเขาจะไม่ได้รับน้ำดื่มที่สะอาด และขาดความช่วยเหลือด้านการแพทย์ที่จะรักษาชีวิตเอาไว้”

ฮ็อบส์ เตือนให้ สเปน, เนเธอร์แลนด์ และ แคนาดา ทบทวนแผนตัดเงินช่วยเหลือเสียใหม่ และต้องการให้ “ประเทศร่ำรวยอย่าง อิตาลี, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งยังบริจาคเงินเพียงเศษเสี้ยวของรายได้ หันมาช่วยเหลือประชากรที่ยากจนที่สุดมากขึ้น”

ยอดเงินบริจาคเพื่อการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงจุดสูงสุดในปี 2010 ก่อนที่จะเริ่มลดลงในปี 2011 โออีซีดี เผย
กำลังโหลดความคิดเห็น