xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนเกาหลี “หมดรัก” แชโบล กระแสต้านแรงแต่บารมียังแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - หากคุณเป็นคนเกาหลีใต้ คุณอาจลืมตาตื่นขึ้นมาในอพาร์ตเมนท์ที่ซัมซุงเป็นผู้สร้าง ดูทีวีแอลจี ขับรถฮุนไดไปทำงาน กดโทรศัพท์ซัมซุงเพื่อจองโต๊ะดินเนอร์ในร้านอาหารของโรงแรมล็อตเต้

และหากคุณโชคดีจริงๆ คุณอาจเป็นหนึ่งในบัณฑิตนับหมื่นที่ได้รับการว่าจ้างในแต่ละปีจาก “แชโบล” หรือกลุ่มกิจการยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมโดยครอบครัว โดยที่แชโบลเหล่านี้มีรายได้ต่อปีเท่ากับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเกาหลีใต้ทีเดียว

และหากเป็นเจ้าของ 1 ในกลุ่มแชโบล คุณจะพบว่าตัวเองตกเป็นเป้าหมายความขุ่นเคืองของประชาชนที่คุกรุ่นขึ้นทุกที

แม้สมาร์ทโฟนและรถแดนกิมจิได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่ในประเทศ คนเกาหลีเริ่มไม่พอใจมากขึ้นกับอิทธิพลของแชโบลที่ครอบงำชีวิต

กระแสความขุ่นเคืองนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาอ่อนไหว เนื่องจากแชโบลกำลังเตรียมผ่องถ่ายสู่สมาชิกรุ่นที่ 3 ของตระกูล และเผชิญกระแสการต่อต้าน รวมทั้งเป็นเป้าหมายความสนใจในการเลือกตั้งรัฐสภาที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้า

แชโบลถูกมองเป็นผู้ได้รับชัยชนะคว้าส่วนที่ดีที่สุด ในข้อตกลงทางการเมืองภายใต้ผู้นำเผด็จการ ปาร์ก ชุงฮี ที่บริหารเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 1962 จนถูกลอบสังหารในปี 1979 ปาร์กสนับสนุนแชโบลอย่างเปิดเผยให้รวบอำนาจเศรษฐกิจและเกือบผูกขาดการควบคุม เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่แชโบลเหล่านี้จะนำพาประเทศที่เสียหายจากสงครามให้หลุดพ้นจากความยากจนและไต่เต้าสู่สถานะชาติมั่งคั่งภายในชั่วอายุคนรุ่นเดียว

เกาหลีใต้ทำได้สำเร็จจริงๆ ในการก้าวขึ้นสู่ฐานะความเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ดี แชโบลกลับถูกวิพากษ์โจมตีหนักหน่วงว่า จ่ายค่าตอบแทนคืนให้สังคมน้อยมาก

ประเด็นร้อนในขณะนี้คือ ในการเร่งรัดพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วโดยอาศัยแชโบลเช่นนี้ กลับมีประชาชนจำนวนมากมายที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้ว่า ประชาชนวัยสูงอายุที่ยังคงมีฐานะยากจนนั้นมีจำนวนถึง 45% หรือสูงกว่า 3 เท่าตัวของค่าเฉลี่ยของพวกประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ตามผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี)

ในการสำรวจล่าสุดของกลุ่มคลังสมองที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคเซนูริ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบันที่มีแนวทางสนับสนุนภาคธุรกิจ ปรากฏว่าในคำถามที่ว่าแชโบลมีจรรยาบรรณหรือไม่ ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 74% ทีเดียว ให้คะแนน “ติดลบ”

คิม ยังโชล อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมายระดับสูงของซัมซุง กรุ๊ป ที่แฉการทุจริตในอาณาจักรธุรกิจแห่งนี้เมื่อปี 2007 เปรียบเทียบการผ่องถ่ายอำนาจควบคุมกิจการ ซัมซุง กรุ๊ป ของ ลี คุนฮี ไปให้แก่ทายาทรุ่นที่ 3 ว่าไม่ได้ต่างอะไรจากการเปลี่ยนถ่ายอำนาจของผู้นำเกาหลีเหนือสู่ คิม จองอึน ผู้นำเผด็จการรุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน

**แชโบลกับการเลือกตั้ง**

การดำเนินคดีกับประธานเอสเค กรุ๊ป กลุ่มกิจการที่ครอบคลุมตั้งแต่โทรคมนาคมถึงน้ำมัน ตลอดจนการดำเนินคดีกับประธานฮันวา กรุ๊ป ที่ขยายธุรกิจครอบคลุมบริการการเงิน กำลังกลายเป็นเพิ่มความกดดันต่อแชโบลอีกคำรบหนึ่ง ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาใกล้เข้ามาทุกที

แถมหลังจากนั้น ยังจะตามมาด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนธันวาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีทีเดียวที่มีการเลือกตั้งสองอย่าฝนี้ในปีเดียวกัน และนับเป็นการเสนอโอกาสอันหาได้ยากยิ่ง ไม่ว่าสำหรับฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา เพราะหากคว้าชัยได้ในทั้งสองศึก ก็มีอำนาจบารมีเต็มๆ ในการผลักดันวาระทางการเมืองของตน

ทั้งนี้ โพลหยั่งเสียงสำนักต่างๆ ระบุว่า พรรคเดโมแครต ยูไนเต็ด ปาร์ตี้ ที่เป็นฝ่ายค้านหัวเอียงซ้าย กำลังไล่จี้พรรครัฐบาลที่เป็นสายอนุรักษนิยม แบบหายใจรดต้นคอ เดโมแครต ยูไนเต็ด ปาร์ตี้ ประกาศที่จะออกมาตรการในการจำกัดไม่ให้บริษัทของแชโบลถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน โดยที่การถือหุ้นไขว้กันนี้เองเป็นกุญแจสำคัญของเครือข่ายการถือหุ้นที่สลับซับซ้อน ซึ่งปูทางให้ผู้นำแชโบลทั้งหลายสามารถควบคุมกุมอำนาจกลุ่มกิจการของตนเองได้

เป็นต้นว่า ในอาณาจักรซัมซุง กรุ๊ปนั้น ลี คุนฮี มีบุตรชายเพียงคนเดียว คือ ลี เจยัง วัย 43 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาคว้าดีกรีทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลี คุนฮี สามารถที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ ลี เจยัง อันจะเป็นรุ่นที่ 3 ของครอบครัวแล้ว ด้วยการโอนหุ้น 25.1% ในซัมซุง เอเวอร์แลนด์ บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่เป็นหัวใจสำคัญในการถือหุ้นไขว้ไปมาระหว่างบริษัทต่างๆ ภายในกลุ่ม

ลี ยองซุป หัวหน้าฝ่ายวางนโยบายของพรรคเดโมแครต ยูไนเต็ม ปาร์ตี้ ประกาศสำทับว่า แทนที่พวกแชโบลจะเอาแต่คร่ำครวญว่าถูกกระแสวิจารณ์รุนแรง หรือรอคอยให้ถูกบีบคั้นให้เปลี่ยนแปลง แชโบลควรเข้าใจสาระของนโยบายของพรรคของเขา และเป็นฝ่ายริเริ่มเติมเต็มแสดงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม ตัวประธานาธิบดีลี เมียงบัค ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของแชโบลมาก่อน ก็มีความพยายามที่จะ “ปฏิรูป” แชโบล เหมือนกัน ด้วยการเสนอแผนการในการ “แบ่งปัน” ความมั่งคั่ง และส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็ก

แผนการของประธานาธิบดีผู้นี้อิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า ในขณะที่แชโบลสามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยได้อย่างมหาศาล เป็นต้นว่า เฉพาะบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ของ ซัมซุง กรุ๊ป เพียงรายเดียว ก็ทำผลกำไรจากการดำเนินงานได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5.3 ล้านล้านวอน (4,700 ล้านดอลลาร์) ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว แต่ปรากฏว่าแชโบลทั้งหลายว่าจ้างประชากรในวัยทำงานของเกาหลีใต้เอาไว้เป็นจำนวนไม่ถึง 5%

ตัว ลี คุนฮี ประมุขของซัมซุง กรุ๊ป คนปัจจุบัน ก็ถูกเว็บไซต์ที่คอยเฝ้าติดตามพวกแชโบลอย่าง www.chaebul.com ระบุว่า มีทรัพย์สมบัติส่วนตัวเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้คิดคำนวณเฉพาะหุ้นในซัมซุง กรุ๊ป ที่เขาถือครองอยู่อย่างเปิดเผยเท่านั้นด้วยซ้ำไป

ขณะเดียวกัน ตัวเลขข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ภาคธุรกิจขนาดเล็กของเกาหลีใต้ กลับเป็นผู้ว่าจ้างคนงานถึง 6.6 ล้านคน หรือประมาณ 27.5% ของกำลังแรงงานของประเทศ โดยที่ในจำนวนนี้มีประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นพวกที่อยู่ในกลุ่ม 20% ผู้มีรายได้ต่ำที่สุดของสังคม

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า แผนการของประธานาธิบดีลี ได้ถูกสหพันธ์อุตสาหกรรมเกาหลี (เคเอฟไอ) กลุ่มล็อบบี้ของแชโบล ล้มคว่ำอย่างไม่เป็นท่า

ชุง อันชาน อดีตนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งมุ่งส่งเสริมแนวทางปฏิรูปดังกล่าวของประธานาธิบดี ได้ยื่นใบลาออกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับร้องเรียนว่า แชโบลละเลยไม่สนใจ “ความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและตัวบทกฎหมาย”
กำลังโหลดความคิดเห็น