เอเอฟพี - น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีปริมาณ 12 ตัน รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งไม่ได้ใช้งานนับตั้งแต่แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในญี่ปุ่นปีที่ผ่านมา บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือเท็ปโก ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเผย โดยระบุว่าน้ำเหล่านั้นอาจไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว
เท็ปโกกล่าวว่า พบน้ำที่มีวัตถุรังสีเจือปนอยู่ในปริมาณมากรั่วไหลออกมาจากท่อ ซึ่งติดกับระบบกำจัดรังสีชั่วคราว ในเช้าวันนี้ (5) และน้ำเหล่านั้นก็ผ่านกระบวนการบำบัดบางส่วนไปแล้ว
เมื่อน้ำปนเปื้อนรังสีดังกล่าว ซึ่งเคยถูกใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำ ก็จะทำให้น้ำเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้งานในการหล่อเย็นได้ใหม่อีกครั้ง
“เจ้าหน้าที่ของเรายืนยันว่า น้ำที่ใช้ในการหล่อเย็นรั่วไหลบริเวณรอยต่อของท่อ” โฆษกเท็ปโกเผย โดยเสริมว่า “เป็นไปได้ที่น้ำบางส่วนอาจไหลออกนอกโรงไฟฟ้า และลงสู่มหาสมุทร”
โฆษกคนดังกล่าวยังระบุว่า รอยรั่วที่พบนั้นได้รับการอุดเรียบร้อยแล้ว และทางบริษัทจะสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ต่อไป รวมทั้งจะตรวจวัดปริมาณน้ำที่รั่วไหลลงสู่แปซิฟิกด้วย
อุบัติเหตุนี้นับเป็นครั้งล่าสุด ที่น้ำปนเปื้อนรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ซึ่งขัดแย้งกับข้ออ้างของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประกาศในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุม
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีราว 120 ตัน เพิ่งรั่วไหลออกจากระบบกำจัดน้ำเสีย และมีน้ำที่เล็ดลอดไหลลงสู่มหาสมถทรแปซิฟิก ราว 80 ลิตร
โรงไฟฟ้า ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 220 กิโลเมตรแห่งนี้ เกิดการเมลต์ดาวน์ และระเบิดหลายครั้งจนใช้งานไม่ได้ หลังแผ่นดินไหวรุนแรง และสึนามิอภิมหามหึมาถล่มญี่ปุ่น ในมีนาคม ปี 2011