เอเอฟพี - นักวิเคราะห์เตือนแผนการของตะวันตกในการนำน้ำมันในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้อาจคุมราคาได้จำกัดและชั่วคราวเท่านั้น พร้อมกันนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า คำมั่นจากซาอุฯในการผลิตน้ำมันชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากอิหร่าน จนถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงคำพูดลอยๆ เท่านั้น
สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเผยว่า วอชิงตันเสนอแนวทางการนำน้ำมันในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้ ซึ่งเป็นสัญญาณชัดเจนที่สุดที่บ่งชี้ว่า ประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อาจลงมือเพื่อต่อต้านราคาน้ำมันซึ่งกำลังพุ่งขึ้นลิ่วๆ
การเปิดเผยดังกล่าวดึงราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ลดลงมา แต่ก็ได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยราคาไต่กลับอีกหนในวันศุกร์ (30 มี.ค.) เนื่องจากเป็นที่ชัดเจนว่าจะยังไม่มีการเคลื่อนไหวดังกล่าวเร็วๆ นี้
ในทางทฤษฎี คลังน้ำมันสำรองแห่งชาติมีจุดประสงค์เพื่อนำออกมาใช้เมื่อเกิดวิกฤตระหว่างประเทศ เช่น เกิดสงคราม หรือภัยพิบัติธรรมชาติในพื้นที่ผลิตน้ำมัน
แต่ภาวะที่ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนท์ทะยานขึ้นเหนือ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในตลาดลอนดอนเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นอีกเลยนับจากปี 2008 จึงมีความกังวลกันมากขึ้นว่า ต้นทุนพลังงานจะบ่อนทำลายการฟื้นตัวอันเปราะบางของเศรษฐกิจโลก
กระนั้น นักวิเคราะห์สงสัยว่า การร่วมกันนำน้ำมันในคลังสำรองฯ ของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำออกมาใช้แบบที่เคยทำในช่วงวิกฤตลิเบียปีที่แล้ว จะส่งผลต่อราคาน้ำมันได้นานเพียงใด
ลูกา บัคคารินี จากอิเนอร์จี้ ฟันด์ส แอดไวเซอร์ส ชี้ว่า การนำน้ำมันในคลังสำรองออกมาใช้ในเชิงเทคนิคจะมีผลต่อตลาดเพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากปัญหาที่สำคัญและซ่อนอยู่คือ ดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับซัปพลายที่ถูกจำกัดจากปัญหาการผลิต
เศรษฐกิจที่หิวกระหายเชื้อเพลิงของเอเชียกำลังเดินเครื่องเต็มที่อีกครั้ง ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกต่ออิหร่านจากโครงการนิวเคลียร์เริ่มส่งผล
บัคคารินีประเมินว่า ส่วนต่างที่ปลอดภัยของการผลิตน้ำมันดิบปัจจุบัน อยู่ที่ที่ควรต้องมีน้ำมันเกินๆ เอาไว้สัก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) แต่ปรากฏว่ามาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติต่ออิหร่านกำลังจะทำให้คำสั่งซื้อจากอิหร่านลดลง 0.5-1 ล้านบีพีดี และฉุดให้มีน้ำมันที่ออกสู่ตลาดลดต่ำลง
ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศที่มีความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบสำรองมากที่สุด ย้ำหลายครั้งว่า ยินดีเพิ่มกำลังผลิตหากจำเป็น
วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (29 มี.ค.) อาลี อัลไนมิ รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีฯ กล่าวว่า ริยาดจะดำเนินการเพื่อดึงราคาน้ำมันลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม และไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม โอลิวิเยร์ เจค็อบ จากปิโตรเมทริกซ์ ตั้งข้อสังเกตว่า โลกต้องการน้ำมันจริงๆ ไม่ใช่แค่คำพูด แต่จนถึงขณะนี้ริยาดยังไม่เคยเพิ่มกำลังผลิตอย่างที่ประกาศ
“การใช้คลังสำรองควรเป็นกระสุนนัดสุดท้าย และถ้ามหาอำนาจตะวันตกจริงจังกับแนวทางนี้ก็เป็นที่ชัดเจนว่า คำมั่นที่ซาอุดีอาระเบียให้ไว้ในการผลิตน้ำมันทดแทนน้ำมันอิหร่านนั้น ไม่เป็นความจริง”
เจค็อบยังตั้งข้อสังเกตว่า ซาอุดีอาระเบียสามารถผลิตน้ำมันชดเชยน้ำมันดิบอิหร่านได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แถมการกระทำดังกล่าวยังทำให้ริยาดเผชิญความเสี่ยงสูงสุดในการทำสงครามกับเตหะราน
ปลายสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) ที่เป็นผู้ประสานงานในการนำน้ำมันจากคลังสำรองของสมาชิก 28 ประเทศออกมาใช้ กล่าวว่า กำลังติดตามพัฒนาการในตลาดอย่างใกล้ชิดและพร้อมดำเนินการหากซัปพลายหยุดชะงักรุนแรง
มาเรีย แวน เดอร์ โฮเวน ผู้อำนวยการบริหารไออีเอ ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาน้ำมันในสถานีบริการในบางประเทศทำสถิติสูงสุดแล้ว และไออีเอกังวลกับผลจากภาวะน้ำมันแพงขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง
อิริก เบซอง รัฐมนตรีพลังงานฝรั่งเศส ส่งสัญญาณชัดเจนว่า แดนน้ำหอมพร้อมนำน้ำมันในคลังสำรองออกมาใช้บางส่วน ขณะที่นายกรัฐมนตรีฟรังซัวส์ ฟิยอง เสริมว่ามีโอกาสมากที่ไออีเอจะไฟเขียวให้ดำเนินการดังกล่าว
ทว่า วันเดียวกันนั้น เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาว กลับเผยว่า ยังไม่มีการตัดสินใจหรือกระทั่งยื่นข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะในขณะที่ทั้งฝรั่งเศสและอเมริกาจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปีนี้
ฟิล ฟลินน์ จากพีเอฟจี เบสต์ ทิ้งท้ายว่า นี่เป็นวัตถุประสงค์ทางการเมืองล้วนๆ