xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อจีน-อินเดีย-มหาอำนาจเอเชียตัวชี้ความสำเร็จแซงก์ชั่นอิหร่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) โรงกลั่นน้ำมันลาวาน บริเวณชายฝั่งทางใต้ของอิหร่าน ขณะที่เตหะรานกำลังถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางภาคพลังงานตามคำร้องขอของชาติตะวันตก อย่างไรก็ตามมาตรการนี้จะมีผลอย่างแท้จริงหรือไม่นั้นยังขึ้นอยู่กับจีน อินเดีย และมหาอำนาจอื่นๆ ในเอเชีย
เอเจนซี - ตะวันตกหวังมาตรการแซงก์ชั่นน้ำมันตัดทางเตหะรานไม่ให้สานต่อโครงการนิวเคลียร์ แต่มาตรการนี้จะมีผลอย่างแท้จริงหรือไม่นั้นยังขึ้นอยู่กับจีน อินเดีย และมหาอำนาจอื่นๆ ในเอเชีย

ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ต่างนำมาตรการสกัดกั้นใหม่ๆ มาใช้โดยจะมีผลปลายปีนี้ในการตัดเส้นทางส่งออกน้ำมันของอิหร่าน กระนั้น มาตรการเหล่านี้ไม่มีผลบังคับประเทศอื่นๆ เหมือนกับมาตรการลงโทษของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น)

แม้จีนลดการสั่งซื้อน้ำมันอิหร่านเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เจ้าหน้าที่ปักกิ่งกำลังเจรจาสัญญาใหม่ และพญามังกรประกาศชัดว่า ต้องการให้ชาติเอเชียอื่นๆ ซื้อน้ำมันอิหร่านต่อไป

อินเดียที่เป็นผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านรายใหญ่สุดในขณะนี้นั้น ทำสัญญาซื้อน้ำมันอิหร่านโดยจ่ายเป็นอาหาร สะท้อนว่าการแซงก์ชั่นส่งผลรุนแรงต่อรายได้ของเตหะราน

แม้มาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ และอียูสามารถปิดกั้นผู้ซื้อน้ำมันดิบอิหร่านไม่ให้เข้าถึงระบบการเงินโลกจำนวนมาก แต่ยังมีช่องโหว่มากมายเช่นกัน

ดินา เอสฟานเดียรี นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการแซงก์ชั่นของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (ไอไอเอสเอส)ในลอนดอนชี้ว่า เพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ในกรณีนี้การแซงก์ชั่นต้องได้รับการสนับสนุนในระดับสากล

กระนั้น สิ่งที่ปักกิ่ง นิวเดลี และชาติอื่นๆ เล็งที่จะดำเนินการคือ ใช้มาตรการแซงก์ชั่นใหม่ๆ และการกดดันทางการทูตของวอชิงตันเพื่อต่อรองราคาที่ดีขึ้นจากอิหร่าน

อย่างไรก็ดี การที่จีนและประเทศอื่นๆ ดึงราคาลงได้มากเท่าไหร่ จะมีนัยต่อเศรษฐกิจและการเมืองอิหร่านมากเท่านั้น วันที่ 2 เดือนหน้าอิหร่านจะจัดการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้ความบาดหมางภายในหมู่ชนชั้นปกครองชัดเจนยิ่งขึ้น

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ด้วยฐานอำนาจที่แตกต่าง ความขัดแย้งระหว่างลัทธิชาตินิยมที่รายล้อมประธานาธิบดีมาหมุด อาห์มาดิเนจาด กับกลุ่มอนุรักษนิยมหัวรุนแรงที่ภักดีต่อผู้นำสูงสุดทางศาสนา อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ทำให้อาจเกิดเหตุผู้ชุมนุมปะทะกันบนท้องถนนอีกครั้ง

การที่เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการอิหร่านต้องตัดหั่นการอุดหนุนที่เคยให้แก่ประชาชน ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซินภายในประเทศพุ่งขึ้นถึง 280% จากต้นปี 2011 และราคาขนมปังแพงขึ้น 25% นักวิเคราะห์ระบุว่า หากมีการลดมาตรการอุดหนุนอีก จะกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจและความไม่สงบ เพิ่มความเสี่ยงที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านจะออกมาโจมตีเป้าหมายต่างชาติเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

ทั้งนี้ เชื่อกันว่า กลุ่มหัวรุนแรงในคณะปกครองเตหะรานอยู่เบื้องหลังการบุกสถานทูตอังกฤษเมื่อเดือนพฤศจิกายน และอาจรวมถึงการพยายามสังหารเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำวอชิงตัน โดยที่บางคนกังวลว่า กลุ่มหัวรุนแรงในอิหร่านอาจโจมตีการขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย

อิหร่านนั้นปฏิเสธข้อสงสัยของตะวันตกเรื่องการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียม แต่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นกลับกำลังตอกย้ำข้อสงสัยดังกล่าว ซ้ำเตหะรานยังเริ่มเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมในโรงงานแห่งใหม่ซึ่งสร้างอยู่ภายในบังเกอร์เจาะเข้าไปในภูเขาซึ่งยากต่อการโจมตีทางอากาศ

การแซงก์ชั่นจะมีผลเข้มงวดแค่ไหนยังคงเป็นคำถามใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อประเด็นนี้ถูกดึงเข้าสู่การเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างเงียบเชียบระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง

ปีที่แล้ว จีนยินดีปฏิบัติตามมาตรการแซงก์ชั่นของยูเอ็น และความพยายามของตะวันตกในการตัดช่องทางการเงินของมูอัมมาร์ กัดดาฟี อดีตผู้นำลิเบีย และโลรองต์ แบ็กโบ อดีตผู้นำไอวอรีโคสต์ แต่ตอนนี้จีนประกาศชัดว่า จะไม่ทำแบบนั้นกับอิหร่าน

หนังสือพิมพ์โกลบัล ไทมส์ ซึ่งอยู่ในเครือเหรินหมินรึเป้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตีพิมพ์บทความเมื่อวันที่ 30 เดือนที่แล้ว ระบุว่า เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของปักกิ่งคือ การปกป้องซัปพลายน้ำมัน ป้องกันการโค่นล้มรัฐบาลในตะวันออกกลางที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก และเริ่มแสดงความเป็นผู้นำโลก

“จีนควรเร่งรัดขั้นตอนต่างๆ ร่วมกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อก่อตั้งพันธมิตรชั่วคราวในการสานต่อการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน การเป็นพันธมิตรนี้มีความเป็นไปได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย ยังลังเลที่จะแซงก์ชั่นอิหร่าน”

กระนั้น ใช่ว่าทุกคนคิดแบบนั้น หลายประเทศในเอเชียต่างกังวลกับการผงาดขึ้นมาของจีน บางคนสงสัยว่า ที่สุดแล้วประเทศมากมายจะเลือกอยู่ข้างวอชิงตันที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน

ไมเคิล เดนิสัน อดีตที่ปรึกษาอาวุโสของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เดวิด มิลลิแบนด์ และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทที่ปรึกษา คอนโทรล ริกส์ ในลอนดอน ชี้ว่า จุดยืนของจีนส่วนหนึ่งขับเคลื่อนจากความต้องการด้านการค้า อีกส่วนจากอธิปไตยของชาติ สำหรับเอเชียนั้น การตัดสินใจจะอิงกับสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับอเมริกา

เจ้าหน้าที่ตะวันตกบางคนบอกว่า ไม่กังวลถ้าจะยังมีคนซื้อน้ำมันอิหร่านต่อไป เพราะแม้ผู้ซื้อในเอเชียเพิกเฉยต่อมาตรการแซงก์ชั่นที่จะมีผลสมบูรณ์ในวันที่ 1 กรกฎาคม แต่เตหะรานจะสูญเสียยอดขายที่เคยได้จากอียู

นอกจากนี้ หากไม่มีการลงทุนและการสำรวจใหม่ๆ ผลผลิตน้ำมันของอิหร่านจะลดลงอย่างรวดเร็ว โดยมีการคาดว่าจะลดลงในปีนี้ 9% อยู่ที่ราว 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (บีพีดี)

เจ้าหน้าที่ตะวันตกที่ไม่ประสงค์เปิดเผยตัวทิ้งท้ายว่า แม้ไม่สามารถปิดกั้นได้อย่างสมบูรณ์ แต่การกดดันอย่างหนักจะทำให้ที่สุดแล้วเตหะรานต้องล่าถอยจากโครงการนิวเคลียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น