xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: คดี “เทรย์วอน มาร์ติน” ปลุกกระแสต้านเหยียดผิวในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหาการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน กลายเป็นประเด็นร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้งจนกระทั่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในฐานะประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ ต้องกล่าวถึง เมื่อเด็กหนุ่มผิวสีไร้อาวุธถูกเพื่อนบ้านคนขาว ที่ทำหน้าที่พลเรือนอาสาสมัครสอดส่องละแวกบ้าน ยิงจนเสียชีวิต แต่เขาคนนั้นกลับกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ต้องรับโทษใดๆ ภายใต้กฎหมายรัฐฟลอริดา มาตรา “Stand Your Ground” หรือที่เรียกเป็นทางการว่า Justifiable Use of Force หรือการใช้กำลังที่สมเหตุผล สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอเมริกันอย่างกว้างขวาง และยังเป็นการรื้อฟื้นบาดแผลเก่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติภายในประเทศด้วย
ป้ายเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ เทรย์วอน มาร์ติน เด็กหนุ่มผิวสีที่ถูกเพื่อนบ้านยิงเสียชีวิต โดยที่ชายคนนั้นไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในคืนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อเทรย์วอน มาร์ติน เด็กหนุ่มชาวแอฟริกัน อเมริกัน วัย 17 ปี นักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายในไมอามี ซึ่งอยู่ระหว่างการเยี่ยมเยียนพ่อในชุมชนทวินเลคส์ เมืองแซนฟอร์ด รัฐฟลอริดา กำลังเดินกลับบ้านจากการออกไปซื้อขนมที่ร้านสะดวกซื้อ โดยจอร์จ ซิมเมอร์แมน อาสาสมัครดูแลความปลอดภัยของชุมชน วัย 28 ปี พบเห็นเข้า และโทรศัพท์แจ้งตำรวจว่ามาร์ตินมีท่าทางน่าสงสัย จึงสะกดรอยตามไป ทั้งที่เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เขาทำเช่นนั้น และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ลั่นไกยิงเด็กหนุ่มผู้นี้จนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ซิมเมอร์แมน ไม่ถูกจับกุมหรือดำเนินคดีใดๆ โดยอ้างว่า เขายิง เทรย์วอน มาร์ติน เพื่อป้องกันตัวเอง เนื่องจากเขาถูกเด็กหนุ่มผิวสีทำร้ายร่างกายก่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ้างอิงกฎหมายมาตรา “Stand Your Ground” ที่อนุญาตให้เจ้าบ้านตอบโต้ผู้บุกรุกจนถึงแก่ความตายได้โดยชอบ หากตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกฆ่าหรือเป็นอันตรายร้ายแรง และนี่เองที่ทำให้ซิมเมอร์แมนกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไปโดยปริยาย

ความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ที่คนผิวสีในอเมริกาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตายทั้งที่ไม่มีความผิดมักเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้กรณีการเสียชีวิตของเทรย์วอน มาร์ตินนั้นกลายเป็นกระแสความโกรธแค้นของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษย์นั้นคือ มาร์ตินเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ไม่ได้พกพาอาวุธ ส่วนซิมเมอร์แมนก็ไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นเพียงอาสาสมัคร และที่เป็นชนวนสำคัญก็คือ ตัวกฎหมาย Stand Your Ground หรือกฏหมายปักหลักสู้ ที่ไม่เพียงแต่ประกาศใช้ในฟลอริดาเท่านั้น แต่ยังมีรัฐอื่นๆ รวมทั้งหมด 24 มลรัฐทีเดียว

ในวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์น่าสลดดังกล่าว ชาวอเมริกันประมาณ 8,000 คน นำโดยเทรซีย์ มาร์ติน และไซบรินา ฟุลตัน พ่อแม่ของเทรย์วอนได้รวมตัวกันเดินขบวนตามท้องถนนทั่วเมืองแซนฟอร์ด เพื่อเรียกร้องขอความยุติธรรมในคดีนี้ ซึ่งเชื่อกันอย่างหนักแน่นว่ามีสาเหตุมาจากการเหยียดสีผิว พร้อมกับยื่นคำร้อง ที่มีลายเซ็นผู้สนับสนุนมากกว่า 2 ล้านรายชื่อ ให้เปิดการสอบสวน และตั้งข้อหาซิมเมอร์แมน โทษฐานที่ยิงเด็กหนุ่มจนเสียชีวิต โดยได้ยื่นต่อผู้นำฝ่ายพลเรือน ได้แก่ นายกเทศมนตรี และคณะกรรมาธิการเมือง ขณะที่ทนายความของครอบครัวมาร์ติน อ้างว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับอาสาสมัครเฝ้าระวังชุมชนรายนี้ได้
ไซบรินา ฟุลตัน (ขวา) และเทรซีย์ มาร์ติน (ซ้าย) พ่อแม่ของเทรย์วอน ในระหว่างรับฟังรายงานสรุปของคณะกรรมาธิการด้านความยุติธรรมแห่งสภาผู้แทนราษฎร ที่แคปิตอลฮิลล์ ในกรุงวอชิงตัน
ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมาธิการด้านความยุติธรรมของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตยังได้จัดการประชุมเกี่ยวกับการเหยียดสีผิว และอาชญากรรมบนความเกลียดชัง ร่วมกับพ่อแม่ของเทรย์วอน มาร์ติน ที่แคปิตอลฮิลล์ อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน โดยเหล่าสมาชิกสภาฯ ต่างแสดงความเห็นใจต่อผู้เป็นพ่อแม่ และประณามตำรวจท้องที่เมืองแซนฟอร์ด ที่เพิกเฉยต่อการจับกุมซิมเมอร์แมน พร้อมกันนี้ครอบครัวมาร์ตินยังได้เรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมเข้ามาดูแลการสอบสวนคดี ที่พวกเขาเชื่อว่ามีความผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นด้วย

ด้านประธานาธิบดี บารัค โอบามา ถึงกับเรียกร้องให้มี “การพิจารณาจิตวิญญาณของชาติ” และเสริมว่า “หากผมมีลูกชาย เขาก็คงคล้ายกับเทรย์วอน” ซึ่งคำพูดดังกล่าวของผู้นำสหรัฐฯ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกโยงเข้ากับการเมือง โดยเฉพาะช่วงแข่งขันเข้มข้น เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคำวิจารณ์ที่รุนแรงที่สุดนั้นมาจากปากของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นิวต์ กริงกริช ซึ่งเป็น 1 ในผู้สมัครของพรรครีพับลิกัน โดยว่าคำพูดใส่อารมณ์ส่วนตัวของโอบามานั้นไม่มีใครเรียกร้อง ทั้งยังสร้างความแตกแยก และเพิ่มน้ำหนักให้คดีนี้เป็นคดีเหยียดสีผิว ตรงข้ามกับผู้สมัครของพรรครีพับลิกันคนอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวโจมตีประเด็นดังกล่าว อย่างมิตต์ รอมนีย์ ตัวเต็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ออกมาเรียกร้องให้อัยการเขต และคณะลูกขุนใหญ่หาความจริงของคดีนี้ให้ได้ ส่วน ริก แซนทอรัม นั้นเพียงแต่ประณามว่าการยิงเด็กหนุ่มเทรย์วอนเป็นเรื่องเลวร้าย

ทั้งนี้ จอร์จ ซิมเมอร์แมน เป็นคนขาวตามที่รู้กันโดยทั่วไป แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือเขามีเชื้อสายละตินอเมริกา และเติบโตในครอบครัวหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งยังเคยมีประวัติใช้ความรุนแรงในครอบครัวเมื่อปี 2002 และ 2006 ปัจจุบันเขายังคงลอยนวลจากความผิดฐานยิงคนตาย โดยเก็บตัวเงียบกริบ ขณะที่ทั้งครอบครัวซิมเมอร์แมนต้องย้ายออกจากชุมชนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากถูกขู่ฆ่าหลายต่อหลายครั้ง ด้านผู้อยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเกิดปัญหาด้านเชื้อชาติมาก่อน ทั้งที่มีผู้คนหลากหลาย ทั้งคนขาว คนผิวสี คนละตินอเมริกา ชาวเอเชีย อยู่รวมกัน แต่ก็เชื่อว่าคดีของเทรย์วอน มาร์ตินนั้นมีประเด็นสีผิวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างแน่นอน.
ผู้ชุมนุมหลายพันคนเดินขบวนตามท้องถนนในเมืองแซนฟอร์ด รัฐฟลอริดา เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเทรย์วอน
กำลังโหลดความคิดเห็น