เอเอฟพี - ผลการศึกษาชิ้นใหม่ในสหรัฐฯ พบผู้ที่นอนหลับพักผ่อนตอนกลางคืนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือมากกว่า 8 ชั่วโมง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจมากกว่าผู้ที่นอนหลับระหว่าง 6-8 ชั่วโมงในหนึ่งคืน
ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันการวิจัยก่อนหน้านี้ ที่เล็กกว่า แต่ก็อ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนจากทั่วประเทศ รวม 3,000 คน ครอบคลุมอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ 5 ประเภท และความเชื่อมโยงกับระยะเวลาในการนอนเช่นเดียวกัน
ประชากรในการวิจัยครั้งนี้เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งเข้าร่วมในการสำรวจปัญหาสุขภาพในครัวเรือนอเมริกัน หรือเนชันนัล เฮลธ์ แอนด์ นูทริชัน เอ็กแซมมิเนชัน เซอร์เวย์
ประชากรกลุ่มนี้ถูกขอให้บรรยายลักษณะนิสัยการนอนของตัวเอง และเผยว่าเคยมีประสบการณ์ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดสมองตีบ หรือไม่
สำหรับผู้ที่บอกว่านอนหลับพักผ่อนแต่น้อยนั้นมีโอกาสเป็นหลอดเลือดสมองตีบ หรือหัวใจวายมากกว่าผู้ที่นอนหลับ 6-8 ชั่วโมงในแต่ละคืน ถึง 2 เท่า และมีโอกาสภาวะหัวใจล้มเหลวสูงกว่า 1.6 เท่า คณะนักวิจัยเผย
“ขณะนี้เรามีข้อบ่งชี้ว่า การนอนหลับสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจได้ และน่าจะเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ” โรฮิต อาโรรา ผู้วิจัยหลัก ซึ่งเป็นประธานภาควิชาหัวใจวิทยา และอาจารย์แพทย์ของวิทยาลัยการแพทย์ชิคาโก
“เมื่ออ้างอิงตามผลการศึกษาเหล่านี้ การนอนหลับ 6-8 ชั่วโมงในแต่ละวันน่าจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจน้อยที่สุดในระยะยาว” เขาระบุ