ฟ็อกซ์นิวส์ - วิดีโอที่วิศวกรชาวเนเธอร์แลนด์สร้างความฮือฮาแก่ชาวโลกด้วยติดปีกเหินฟ้าได้ราวกับนกถลาลม กำลังกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ หลังผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าคลิปนี้อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อการโฆษณาโดยบริษัทแห่งหนึ่ง
จาร์โน สมีทส์ ใช้เทคโนโลยีนินเทนโด วี ติดไว้กับปีกที่ประดิษฐ์ขึ้น โดยความเคลื่อนไหวของแขนทั้งสองคือการอัพเดทข้อมูลไปยังปีกขนาดยักษ์ที่สร้างจากว่าวผ้าร่ม ทั้งนี้ในความสำเร็จของการขึ้นบินเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา เขาใช้ปีกยักษ์นี้เหินฟ้าเหนือสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ไปได้ไกลเป็นระยะทางกว่า 100 เมตร
คลิปดังกล่าวเป็นที่ฮือฮาอย่างมากบนโลกออนไลน์ โดยมีผู้เข้าชมไปแล้วมากกว่า 1 ล้านครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะที่มันเป็นหนึ่งในวิดีโอชุดติดตามความคืบหน้าของ สมีทส์ ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วง 8 เดือนมานี้ ระหว่างที่เขาพยายามทีละเล็กละน้อยในการนำโปรเจ็คปีกมนุษย์ยักษ์นี้ขึ้นสู่ท้องฟ้าให้ได้
สมีทส์ ซึ่งเคยได้รับคำนิยมว่า " เลโอนาร์โด ดา วินซี ยุคใหม่" อ้างว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างเครื่องร่อนนี้จากภาพวาดปีกเมื่อ 500 ปีก่อนของ ดา วินซี เช่นเดียวกับนกทะเลขนาดใหญ่ หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบินมากที่สุดโดยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเรื่องโกหกหรือไม่ มันเป็นคลิปโฆษณาอันหลักแหลมของบริษัทแห่งหนึ่งหรือเปล่า ดูเหมือนว่าผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งจะคิดแบบนั้น
ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า สมีทส์ พาดพิงถึงสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นในวิดีโอ เว็บไซต์และเอกสารแจกแก่สื่อมวลชน ว่าปีกนี้มีการดัดแปลงใช้เทคโนโลยีนินเทนโด วี ควบคุมจากระยะไกลและวัดความเร่งจากสมาร์ทโฟน HTC Wildfire S นอกจากนี้ยังใช้แหล่งพลังงานโดยมอเตอร์ของเทอร์นิจี พร้อมกันนั้นเขายังบอกอีกว่าใช้กล้องโกโปรบันทึกการบินของเขา
"ผมมั่นใจราว 85 เปอร์เซ็นต์ว่ามันคือคลิปที่ผลิตออกมาสำหรับการโฆษณาสินค้า" เบรนทต์ โคเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลียกล่าว พร้อมระบุว่ามนุษย์ติดปีกยักษ์นี้มีองค์ประกอบทุกอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการโฆษณา
ทั้งนี้หากว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นคลิปเพื่อการโฆษณาจริง ดูเหมือน นินเทนโด จะมีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการเป็นเจ้าของโฆษณาชิ้นนี้ อย่างไรก็ตามบริษัทต่างๆที่เกี่ยวข้องยังไม่มีใครออกมาแสดงความคิดเห็น
โกโปร ซึ่งเคยถูกโยงเข้ากับวิดีโอโฆษณาที่สร้างความฮือฮาหลายต่อหลายคลิปก่อนหน้านี้ แต่โฆษกของบริษัทยันยืนไม่เกี่ยวข้องกับวิดีโอนี้ ขณะที่ นินเทนโด ไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อคลิปดังกล่าว