เอเอฟพี - สหรัฐฯเผย อาวุธคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะทำให้ผู้ตกเป็นเป้าหมายรู้สึกร้อนระอุอย่างฉับพลันจนไม่อาจทนอยู่ได้ และนับเป็นอาวุธที่มิใช่เพื่อการสังหาร (non-lethal) ชนิดล่าสุดที่กองทัพสหรัฐฯพัฒนาขึ้น
“คุณจะมองไม่เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้กลิ่น แต่จะสัมผัสมันได้” พ.อ.(นย.) เทรซี ทัฟโฟลา ผู้อำนวยการศูนย์อาวุธที่มิใช่เพื่อการสังหาร ฐานทัพนาวิกโยธินควอนติโก มลรัฐเวอร์จิเนีย แถลงต่อผู้สื่อข่าวในงานเปิดตัวอาวุธชนิดใหม่
จากการสาธิตขณะแถลงข่าว โดยที่พวกผู้สื่อข่าวเข้าร่วมด้วย ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีระบุว่า อานุภาพของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีความรุนแรง จนมนุษย์ที่มีสัญชาติญาณการเอาตัวรอดจะต้องหลบหนีไปโดยเร็ว
ทัฟโฟลา อธิบายว่า ระบบคลื่น “แอ็กทีฟ ดิไนเอิล ซิสเท็ม” (Active Denial System) ซึ่งมีรัศมีไกลถึง 1,000 เมตร เป็นอาวุธชนิดไม่มีเป้าหมายเพื่อสังหารที่มีความปลอดภัยสูงสุด และใช้เวลาพัฒนานานกว่า 15 ปี ทว่ายังไม่เคยนำไปใช้งานจริง
อาวุธชนิดนี้เคยถูกส่งไปยังอัฟกานิสถานเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ไม่เคยใช้ในปฏิบัติการใดๆ มาก่อน
ที่ผ่านมา เคยมีผู้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีชนิดนี้ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นคลื่นชนิดเดียวกับคลื่นไมโครเวฟที่ใช้อุ่นอาหาร ซึ่ง เพนตากอน ก็พยายามชี้แจงให้ทุกฝ่ายทราบว่า อาวุธตัวนี้มีความแตกต่างกับคลื่นไมโครเวฟอย่างไร
สเตฟานี มิลเลอร์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัยกองทัพอากาศ ซึ่งศึกษาผลทางชีววิทยา (bioeffect) ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดนี้ พบว่า คลื่นดังกล่าวมีความถี่ 95 กิกะเฮิร์ตซ์ และมีความยาวคลื่นเพียง 1/64 นิ้ว ทำให้ถูกดูดซึมเพียงผิวเผิน และมีความปลอดภัยต่อมนุษย์ โดยจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวอย่างรุนแรงเท่านั้น
ไดอานา ลอรี หัวหน้านักวิจัย อธิบายว่า คลื่นไมโครเวฟจะมีความถี่เพียง 1 กิกะเฮิร์ตซ์ ทำให้แพร่กระจายได้รวดเร็ว และแทรกซึมเข้าสู่วัตถุได้ลึกกว่า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้มันถูกนำไปใช้ปรุงอาหารให้สุกได้
ลอรี ยังย้ำด้วยว่า อาวุธคลื่นแม่เหล็กนี้ต่อให้มีกำลังมากกว่าคลื่นไมโครเวฟถึง 100 เท่า ก็ไม่สามารถทำให้เมล็ดข้าวโพดกลายเป็นป๊อบคอร์นได้ เนื่องจากความถี่ไม่เพียงพอที่จะแทรกซึมและส่งความร้อนเข้าไปถึงภายในวัตถุ
กองทัพสหรัฐฯมีแผนจะนำอาวุธชนิดนี้ไปใช้ในจุดประสงค์ต่างๆ เช่น สลายม็อบ, ติดตั้งตามจุดตรวจ, กำหนดเขตห้ามเข้า และป้องกันระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้ ปุ่มปฏิบัติการซึ่งติดตั้งบนรถบรรทุกก็จะตัดโดยอัตโนมัติทุกๆ 3 วินาที เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ทัฟโฟลา ระบุ