xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “ปูติน” หลั่งน้ำตาจระเข้ หลังรัสเซียลง “ประชามติ” มอบอำนาจส่อแววนั่งบัลลังก์ยาว 12 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ไม่เคยมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งไหนได้รับความสนใจ และมีประเด็นให้พูดถึงมากเท่าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพียงการลงประชามติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” วลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้นำในอีก 12 ปี นับจากนี้ไป ทั้งนี้ ปูตินชนะไปด้วยคะแนน 63.6% คิดเป็นคะแนนดิบ 45,478,680 เสียง หลังจากเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2000-2008 ก่อนจะถอดหัวโขนให้ ดมิตรี เมดเวเดฟ สวมคั่นเวลา เนื่องจากติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่ห้ามประธานาธิบดีนั่งเก้าอี้ติดกันเกิน 2 สมัย โดยปูตินหันไปทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เฝ้ารอเวลาจนมาถึงวันนี้
วลาดิมีร์ ปูติน มีน้ำตาคลอเบ้า ขณะปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนหลังจากคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี วันที่ 4 มีนาคม เขาพูดไว้ในวันนั้นว่าสามารถป้องกันไม่ให้รัสเซียตกอยู่ในมือของ “ศัตรู” ด้านกลุ่มผู้ประท้วงผลการเลือกตั้งก็กล่าวเสียดสีไว้ว่า น้ำตาของปูตินเปรียบเหมือน “น้ำตาจระเข้” อีกทั้งประชดประชัน โดยอ้างไปถึงภาพยนตร์รัสเซียที่คว้ารางวัลออสการ์ในปี 1980 เรื่อง “Moscow Does Not Believe in Tears”
ข่าวที่เริ่มสะพัดในปี 2011 ว่าปูตินจะกลับมาทวงเก้าอี้ผู้นำสมัยที่ 3 สร้างความไม่พอใจแก่คนรัสเซียจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายกับปัญหาคอร์รัปชันซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข ความโกรธแค้นของคนกลุ่มนี้ปะทุถึงจุดเดือดจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ซึ่งถูกครหาอย่างหนักเกี่ยวกับการโกงผลเลือกตั้งช่วยเหลือพรรคของปูติน ประชาชนเป็นแสนๆ คน ออกมาประท้วงรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเกิด ตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

รัฐบาลตอบรับเสียงเรียกร้องให้ป้องปรามการโกงเลือกตั้ง โดยสั่งติดกล้องวงจรปิดทั่วทุกหน่วยเลือกตั้ง 96,000 หน่วย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มแรงกดดันต่อสื่อจำนวนหนึ่งที่ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อปูติน เช่น สถานีวิทยุ เอคโค มอสควี (Ekho Moskvy) และหนังสือพิมพ์ โนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta)

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง ก็ไม่วายมีรายงานกลโกงต่างๆ โดยนักสังเกตการณ์จากองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (The Organization for Security and Co-operation in Europe-OSCE) และสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียสืบสวนคดีโกงการเลือกตั้งอย่างเป็นจริงเป็นจัง ข้อเรียกร้องเดียวกันนี้ก็เคยปรากฏออกมาหลังการเลือกตั้งวันที่ 4 ธันวาคม พร้อมทั้งสำทับว่าการเลือกตั้งผู้นำรัสเซียไม่ชอบมาพากลตั้งแต่เริ่ม และผลที่ออกมาก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่องค์กรอิสระในรัสเซียเอง เช่น กลุ่ม “ลีก ออฟ โหวตเตอร์ส” (League of Voters) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งในเดือนมกราคมโดยแกนนำการประท้วงผลการเลือกตั้งสภาดูมา ก็ชี้ว่ากระบวนการการเลือกตั้งไม่ยุติธรรมและไม่โปร่งใส ผลที่ออกมาจึงผิดเพี้ยน ถือเป็น “การโกงเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ” และกลุ่ม “รอสวีโบรี” (Rosvybory) ของ อเลกเซย์ นาวัลนี บล็อกเกอร์นักต่อต้านคอร์รัปชันตัวกลั่น ก็นำการประท้วงหลังทราบผลคะแนนของปูติน กระทั่งมีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 600 คน

หนึ่งในความผิดปกติหลายๆ กรณีที่ ลีก ออฟ โหวตเตอร์ส พบคือมีการเลือกตั้งนอกเขตเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ 3 ล้านคน ซึ่งล้วนเป็นดีต่อคะแนนของปูติน โดยทางกลุ่มได้ยังส่งคนเข้าสังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้ง 33 หน่วย ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับ 2 ของรัสเซีย และพบว่าคะแนนของปูตินจากการนับของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สูงกว่าคะแนนที่ลีก ออฟ โหวตเตอร์ส นับได้ 15% โดยในภาพรวม กลุ่มนี้ระบุว่า ปูตินได้คะแนนจริง 53% ไม่ใช่ 63.6% ตามที่ทางการประกาศ
ตำรวจรัสเซียจับกุมผู้ประท้วงกลางกรุงมอสโก 1 วัน ให้หลังการเลือกตั้ง ไปกว่า 620 คน รวมถึง อเลกเซย์ นาวัลนี แกนนำการประท้วง ทั้งหมดถูกกักตัวไว้หนึ่งคืน ก่อนได้รับการปล่อยตัว แต่มีจำนวนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีซึ่งอาจต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 15 วัน
ทั้งนี้ การจับกุมผู้ประท้วงหลังจากการเลือกตั้ง 4 มีนาคม กว่า 600 คน เป็นสัญญาณชัดเจนว่า ปูตินเริ่มหมดความอดทนกับเสียงเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย การเมือง และเสรีภาพ เครมลินพร้อมเข้าสลายการชุมนุมทันที หากผู้ประท้วงเดินออกนอกกรอบที่วางไว้ สำหรับกรณีนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สวิเคราะห์ไว้ว่า ปูตินจะยอมให้มีการประท้วงกลุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นบ้างเหมือนที่เป็นมา ตามเวลาและสถานที่ที่รัฐบาลเห็นชอบ แต่จะใช้มาตรการที่เด็ดขาดทันที หากเห็นว่ามีแกนนำหัวรุนแรงสุดโต่งจ้องโค่นล้มอำนาจของเขาอย่างเป็นรูปธรรม

หลังหลั่งน้ำตาแห่งชัยชนะซึ่งฝ่ายค้านเรียกว่า “น้ำตาจระเข้” ปูตินยังแสดงท่าทีเป็นพันธมิตรขอจับมือกับฝ่ายต่างๆ เพื่อบรรเทากระแสต่อต้าน โดยได้เชิญผู้สมัครที่พ่ายแพ้เข้าหารือ ซึ่งขาดเพียง เกนนาดี ซูย์กานอฟ หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ เจ้าของคะแนน 17.14% ที่ไม่ขอร่วมโต๊ะกับปูติน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่แต่หน้าเก่าซึ่งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 7 พฤษภาคม ผู้นี้ ยังแย้มว่า มิคาอิล โปรโครอฟ เศรษฐีหนุ่มผู้สมัครอิสระผู้ได้คะแนนจากคนชั้นกลางรุ่นใหม่จนเข้ามาเป็นอันดับ 3 ที่ 7.94% อาจได้ร่วมงานกับรัฐบาล

ตาทฤษฎีแล้ว ชัยชนะครั้งนี้อาจทำให้ปูตินครองอำนาจยาว 12 ปี หลังจากเมดเวเดฟ ผู้ถูกตีตราเป็นหุ่นเชิด ฝากผลงานชิ้นโบแดงไว้กับรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิมสมัยละ 4 ปี เป็น 6 ปี นั่นหมายความว่า หากปูตินชนะเลือกตั้งครั้งหน้าอีก ก็จะครองอำนาจยาวถึง 2024 อีก 12 ปีนับจากนี้ หากเป็นเช่นนั้นจริง ปูตินจะกลายเป็นผู้นำมอสโกที่ครองบัลลังก์ยาวนานที่สุด ตั้งแต่สิ้นสมัยของ โจเซฟ สตาลิน อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งครองอำนาจระหว่างปี 1922–1952

อนึ่ง แม้จะเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างๆ นานา แต่ผู้นำมหาอำนาจก็ปรี่เข้าแสดงความยินดีกับปูติน ทั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผู้นำญี่ปุ่น ประธานาธิบดีจีน หรือแม้แต่สหรัฐฯ ก็ประกาศว่าพร้อมจะทำงานร่วมกับปูติน
คณะกรรมการของ “ลีก ออฟ โหวตเตอร์ส” แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พร้อมทั้งชี้ว่ารัฐบาลกำลังดูถูกประชาสังคมจากการโกงผลเลือกตั้งเป็นวงกว้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น