ยูเอสนิวส์ - เจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพสหรัฐฯ เผย อิหร่าน และกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงในตะวันออกกลาง เร่งเดินหน้ากิจกรรมในอเมริกาใต้ เช่น การสร้างอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ให้กับเวเนซุเอลา โดยมีเป้าหมายเพื่อผูกสัมพันธไมตรี และกอบโกยเงิน
นายพล ดักลาส เฟรเซอร์ หัวหน้ากองบัญชาการทหารทางใต้ของสหรัฐฯ เผยในกรุงวอชิงตันว่า เตหะรานตั้งใจผลิตโดรนให้กับกองทัพเวเนซุเอลา ซึ่งนำโดยประธานาธิบดี ฮูโก ชาเบซ ทว่า ขีดความสามารถของอากาศยานไร้คนขับนี้ยังค่อนข้างจำกัด
“ผมคงจะจัดให้อากาศยานไร้คนขับนี้อยู่ในระดับสแกนอีเกิล ไม่ใช่ระดับพรีเดเตอร์” หัวหน้ากองบัญชาการทหารรายนี้อ้างถึงโดรน ที่ผลิต และใช้ในกองทัพสหรัฐฯ โดยสแกนอีเกิล หมายถึง อากาศยานขนาด 10 ฟุตใช้ในการตรวจตรา ขณะที่เอ็มคิว-1บี พรีเดเตอร์ มีขนาด 27 ฟุต และสามารถติดตั้งขีปนาวุธจากอากาศสู่พื้นเฮลไฟร์ได้
เฟรเซอร์ ระบุว่า ยังไม่ทราบว่า ทางการเวเนซุลามีภารกิจประเภทใดที่จะต้องใช้โดรนของอิหร่าน ซึ่งเขาคาดการณ์ในทางที่ดีว่า อาจเป็นการป้องกันภายในประเทศ
ในปี 2006 เจ้าหน้าที่อิสราเอล เคยกล่าวอ้างว่า ยิงสอยโดรนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ที่อิหร่านให้การสนับสนุนอยู่ร่วงลงมาไม่ต่ำกว่า 3 ลำ ระหว่างสงครามในเลบานอน
ขณะที่ในเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา เตหะรานคุยว่า หนึ่งในหน่วยรบอิเล็กทรอนิกส์ได้ยิงโดรนสอดแนมอาร์คิว-170 ของกองทัพอเมริกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “สัตว์ร้ายแห่งกันดาฮาร์” และยึดเอาไว้ได้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า อิหร่านติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวไว้ในโดรนที่ขายให้กับเวเนซุเอลาหรือไม่
เฟรเซอร์ ชี้ว่า เท่าที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รับทราบในขณะนี้ คือ การสร้างอากาศยานไร้คนขับใดๆ ของอิหร่านนั้นต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเมื่อไม่นานมานี้
ด้าน ฟิลิป ฟินเนแกน นักวิเคราะห์แห่งทีลกรุ๊ป ชี้ว่า ข้อตกลงซื้อขายโดรนนี้เป็น 1 ในสัญญาณนามธรรมของความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่าน และเวเนซุเอลา ซึ่งอาจเป็นความสูญเสียของสหรัฐฯ ทว่า เตหะรานก็ยังไม่ใช่ประเทศชั้นนำในการพัฒนาความสามารถของโดรนอยู่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น เตหะรานยังเพิ่มจำนวนสถานทูต ที่มีอยู่ทั่วอเมริกา จาก 5 เป็น 10 แห่ง ทั้งยังสร้างศูนย์วัฒนธรรมในบางประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทางการทูตที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ เฟรเซอร์เสริม
ส่วนกลุ่มฮามาส และ ฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน และถูกสหรัฐฯ จับตามองอย่างใกล้ชิดนั้น ก็มีความสัมพันธ์กับประเทศแถบละตินอเมริกาในรูปแบบของกิจกรรมผิดกฏหมาย เช่น ลักลอบค้ายาเสพติด อาวุธ และมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมเงินส่งกลับไปให้เหล่าแกนนำในตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงว่า กลุ่มอัลกออิดะห์เข้าไปสร้างรากฐานอยู่ในภูมิภาคอเมริกาใต้ เฟรเซอร์สำทับ