xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ชาวอัฟกันประท้วงเดือดเหตุทหารมะกันเผา “อัลกุรอาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯและอัฟกานิสถานปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังเกิดกรณีที่ทหารอเมริกันซึ่งประจำการ ณ ฐานทัพบาแกรมนำพระคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลามไปเผาทำลายอย่างไม่เกรงใจ ตอกย้ำความเจ็บแค้นที่สุมอยู่ในใจชาวอัฟกันมาตลอดกว่า 10 ปีที่กองกำลังนานาชาติเข้าไปทำสงครามกวาดล้างกลุ่มตอลิบานในบ้านเมืองของพวกเขา

พลเมืองอัฟกันออกมาประท้วงที่หน้าฐานทัพอากาศบาแกรม ซึ่งเป็นฐานทัพใหญ่ที่สุดของนาโตในอัฟกานิสถาน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมทั้งขว้างปาระเบิดเพลิงและยิงหนังสติ๊กใส่ทหารชาวตะวันตกด้วยความโกรธแค้น ขณะที่ทหารอเมริกันก็ตอบโต้ด้วยการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมลงมาจากหอสังเกตการณ์

ต้อเหตุของการเผาพระคัมภีร์ในครั้งนี้มีรายงานว่า ทหารนาโตได้ยึดคัมภีร์อัลกุรอานมาจากนักโทษในเรือนจำฐานทัพบาแกรมแล้วนำไปทิ้งในเตาเผาขยะ เนื่องจากเกรงว่านักโทษจะใช้คัมภีร์ในการส่งข้อความลับถึงกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานซึ่งทำงานอยู่ในฐานทัพดังกล่าวไปพบซากคัมภีร์ที่ถูกเผา จึงนำเรื่องนี้ออกมาเปิดเผย

อัฟกานิสถานเป็นประเทศมุสลิมแบบเคร่งครัด ซึ่งการดูหมิ่นศาสนาอิสลามแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจนำมาซึ่งปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การพบเห็นพระคัมภีร์อัลกุรอานในสภาพไหม้เกรียมจะทำให้พลเมืองที่นั่นรู้สึกโกรธแค้นอย่างที่สุด

ต้นปีที่ผ่านมา ยังปรากฎคลิปวีดีโอที่นาวิกโยธินสหรัฐฯ 4 นายดูหมิ่นศพของนักรบตอลิบานด้วยการปัสสาวะรด ซึ่งทำให้โลกมุสลิมออกมารุมประณามพฤติกรรมถ่อยเถื่อนของทหารอเมริกันมาแล้วครั้งหนึ่ง

เมื่อการประท้วงส่อเค้าลุกลาม พลเอก จอห์น แอลเลน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน จึงออกมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมสั่งสืบสวนรายงานที่ว่ามีทหารอเมริกันปฏิบัติต่อวัตถุอันเป็นที่เคารพในศาสนาอิสลามรวมถึงคัมภีร์อัลกุรอานในทางที่ไม่เหมาะสม ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็ส่งจดหมายขออภัยมายังประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ โดยยืนยันว่า สหรัฐฯไม่มีเจตนาดูหมิ่นศาสนาอิสลาม และจะนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ

คำขออภัยของ โอบามา ถูกศัตรูทางการเมืองในสหรัฐฯหยิบยกมาโจมตีด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน โดย นิวต์ กิงกริช หนึ่งในผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯปลายปีนี้ ระบุว่า การที่ประธานาธิบดีเอ่ยขอโทษรัฐบาลอัฟกานิสถานเป็นเรื่องน่าละอายอย่างยิ่ง และ คาร์ไซ ต่างหากที่ควรเป็นฝ่ายขอโทษสหรัฐฯ หลังทหารอเมริกันถูกผู้ประท้วงสังหารไปถึง 2 นาย แต่โฆษกทำเนียบขาว เจย์ คาร์นีย์ ก็ออกมาแก้ต่างว่า โอบามาทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อเห็นแก่ความปลอดภัยของพลเมืองสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการยอมรับผิดของผู้นำสหรัฐฯจะไม่ทำให้ไฟแค้นของพลเมืองอัฟกันมอดดับลงโดยง่าย เพราะหลังจากนั้นผู้ประท้วงยังบุกโจมตีสำนักงานขององค์การสหประชาชาติในเมืองคุนดุซ และเมื่อวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ ก็เกิดเหตุสังหารที่ปรึกษากองทัพสหรัฐฯ 2 นายอย่างอุกอาจภายในกระทรวงมหาดไทยของอัฟกานิสถาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฝีมือหน่วยข่าวกรองอัฟกัน

การสังหารที่ปรึกษาอเมริกันในกระทรวงมหาดไทยทำให้ นาโต ตัดสินใจถอนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากทุกกระทรวงของอัฟกานิสถาน ขณะที่สถานทูตตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ก็ถอนเจ้าหน้าที่พลเรือนและที่ปรึกษาออกจากหน่วยงานของอัฟกานิสถานเช่นกัน

แหล่งข่าวในกรุงคาบูลเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันที่ถูกยิงเสียชีวิตพูดจาดูหมิ่นพลเมืองอัฟกันที่ออกมาประท้วงการเผาพระคัมภีร์อัลกุรอาน ทั้งยังด่าว่าและเรียกขานพวกเขาอย่างหยาบคาย ขณะที่นั่งดูวีดีโอบันทึกภาพการประท้วงในกรุงคาบูล

ผู้ตายทั้งสองยังกล่าวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอัฟกันว่า อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ชั่วร้าย ทำให้ 2 ฝ่ายเกิดมีปากเสียง และเจ้าหน้าที่อัฟกันซึ่งบันดาลโทสะก็ได้ชักปืนยิงฝ่ายตรงข้ามไป 8 นัดก่อนจะหลบหนีไป ซึ่งกว่าจะมีผู้ทราบเหตุก็อีก 1 ชั่วโมงให้หลัง เนื่องจากสถานเกิดเหตุเป็นห้องเก็บเสียง

ด้านกลุ่มก่อการร้ายตอลิบานก็ฉวยโอกาสยั่วยุให้ชาวอัฟกันทั่วประเทศจับอาวุธเข่นฆ่าทหารต่างชาติ ซึ่งนำกำลังเข้ายึดครองอัฟกานิสถานมานานกว่า 10 ปี และเมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ ก็ได้ก่อเหตุระเบิดรถยนต์พลีชีพที่สนามบินจาลาลาบัดอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพนาโต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปอีก 9 ราย

นักวิเคราะห์หวั่น “ตอลิบาน” คืนอำนาจหลังสหรัฐฯถอนกำลัง

การดูหมิ่นพระคัมภีร์อัลกุรอานในครั้งนี้ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคาบูลและวอชิงตันที่ปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ย่ำแย่ลงกว่าเดิม และอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายที่ดำเนินมานานกว่า 10 ปี

ชาวอัฟกานิสถานส่วนใหญ่มีมุมมองต่อสหรัฐฯในแง่ลบอยู่เป็นทุนเดิม และเหตุเผาคัมภีร์อัลกุรอานก็เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ความอัดอั้นของพวกเขาระเบิดออกมาในรูปของความรุนแรง นอกจากนี้ แนวโน้มที่ทหารอัฟกันเริ่มหันมาจับอาวุธสังหารทหารอเมริกันบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกภาพสะท้อนที่ชี้ให้เห็นถึงความหวาดระแวงและความเกลียดชัง ซึ่งก่อเกิดขึ้นแม้แต่ในส่วนของกองทัพเอง

ประเด็นสำคัญต่อจากนี้ นอกจากจะต้องจับตาสถานการณ์การประท้วงว่าจะยืดเยื้อไปนานแค่ไหนแล้ว ยังต้องมองยาวไปถึงอนาคตของอัฟกานิสถานว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากที่สหรัฐฯถอนทหารทั้งหมดออกไปอย่างสมบูรณ์ในปี 2014 ซึ่งทุกวันนี้ชาวอัฟกันต่างก็ตระหนักดีว่า หากปราศจากการสนับสนุนทั้งในด้านความมั่นคงและงบประมาณจากสหรัฐฯแล้ว รัฐบาล คาร์ไซ ก็ยากที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง ทำให้พลเมืองบางส่วนเริ่มเอาตัวรอดโดยหันกลับไปผูกมิตรกับตอลิบานและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ซึ่งก็รอเวลาที่จะกลับมาแผ่อิทธิพลในอัฟกานิสถานอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกถอนกำลังพลออกไปหมดสิ้นแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น